นายสมควร ทัดทรง เจ้าของกิจการสีน้ำฟาร์มควายสวยเมืองชาละวัน ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 10 ต.บึงบัว อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร นำเงินจำนวน 5 ล้าน ไปซื้อควายพันธุ์ดีชื่อ “เพชรทองแท้” ซึ่งเป็นควายที่มีลักษณะดีวัย 22 เดือน จากฟาร์มควายงาม จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นฟาร์มของ นายณรงค์ สงวนวงค์ หรือ“ผู้ใหญ่แคท” ผู้คว่ำหวอดในวงการควายงามคนสำคัญของธุรกิจฟาร์มเลี้ยงควาย
นายสมควร ซึ่งเป็นเกษตรกรเจ้าของ สีน้ำฟาร์มควายสวยเมืองชาละวัน เปิดเผยว่า ที่ตัดสินใจซื้อเจ้า“เพชรทองแท้” ซึ่งเป็นควายที่มีลักษณะงดงามวัย 22 เดือน ในครั้งนี้ เนื่องจากมีควายที่เป็นแม่พันธุ์อยู่แล้ว 30 ตัว และก่อนหน้านี้ได้นำควายตัวเมียที่เป็นแม่พันธุ์ จาก จ.พิจิตร ไปผสมเทียมที่ฟาร์มของ “ผู้ใหญ่แคท” แห่งนี้
แต่การผสมพันธุ์ระหว่างควายเพศผู้กับควายเพศเมียก็ประสบความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ครั้งนี้จึงตัดสินใจยอมจ่ายเงิน 5 ล้านบาท เพื่อซื้อเจ้า “เพชรทองแท้” ซึ่งเป็นควายเพศผู้เพื่อจะนำไปเป็นพ่อพันธุ์ให้ประจำอยู่ที่สีน้ำฟาร์มควายสวยเมืองชาละวัน เพื่อจะได้ผลิตลูกควายรวมถึงให้บริการผสมพันธุ์กับเพื่อนเกษตรกรที่เลี้ยงควายอยู่ในแถบจังหวัดพิจิตรและพื้นที่ข้างเคียง โดยไม่ต้องขนควายเพศเมียไปผสมพันธุ์กับควายเพศผู้ที่ฟาร์มของ “ผู้ใหญ่แคท” จังหวัดอุทัยธานี
ด้ายนาย ณรงค์ กล่าวว่า “เพชรทองแท้” เป็นควายที่มีลักษณะตัวใหญ่ งดงาม มีลักษณะสวยครบตามอัตลักษณ์ ตามอุดมทัศนีย์ควายไทย คือ วงเขาเปิดกว้าง โครงสร้างลำตัวและขาใหญ่ เล็บหนา ขณะนี้อายุอยู่ในวัยแค่เพียงแค่ 22 เดือน ยังมีความสูงถึง 150 เซนติเมตร ซึ่งอนาคตยังสามารถจะเติบโตตัวใหญ่ได้ขึ้นไปอีก เพราะควายจะโตเป็นหนุ่มใหญ่ก็จะต้องมีอายุอยู่ในช่วงอายุ 6-7 ปี
และ “เพชรทองแท้” เป็นควายน้องชายพ่อเดียวกันกับ เจ้า “เพชรสยาม” ซึ่งเคยมีคนขอซื้อในราคา 12 ล้านบาท แต่เจ้าของไม่ยอมขาย ที่อายุขณะนี้แค่เพียง 3 ปี 6 เดือน แต่มีความสูงถึง 176 เซนติเมตร ความยาวลำตัวจากจมูกถึงบั้นท้ายประมาน 2 เมตร น้ำหนักตัวมากถึง 1,300 กก.
สำหรับควายครอบครัวนี้ จึงเป็นสายเลือดของควายชื่อดังที่ชื่อ เจ้า“รุ่งเพชร” ควายงามเงินล้าน ต้นสายควายยักษ์เมืองไทย จากบ้านลุงติ๊กควายไทย ผู้ริเริ่มการพัฒนาสายพันธุ์ควายยักษ์เกือบ 50 ปี ซึ่งเจ้ารุ่งเพชร ถือเป็นพ่อพันธุ์ควายที่มีน้ำเชื้อแพงที่สุดในประเทศไทย เพราะมีน้ำเชื้อน้อย ราคาซื้อขายน้ำเชื้ออยู่ที่หลอดละ 40,000 บาท อีกด้วย
นายสมควร แห่งสีน้ำฟาร์มควายสวยเมืองชาละวัน ยังกล่าวอีกว่า พร้อมเปิดฟาร์มให้เพื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงควายได้เข้ามาเยี่ยมชม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ควายไทยให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจสร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยได้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูล จาก ‘สยามรัฐ’