วันที่ 9 ก.ย.66 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดพะเยา เป็นประธานการประชุมแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาและบริหารจัดการกว๊านพะเยา ณ ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยมีว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวต้อนรับ รวมทั้ง นายอัครา พรหมเผ่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา นางสุมิตรา กัณฑมิตร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ให้การต้อนรับกว่า 1,300 คน และร่วมมอบดอกไม้แสดงความยินดีในโอกาสได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“การลงพื้นที่จังหวัดพะเยาในวันนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ได้กลับมาในจังหวัดพะเยา หลังจากที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และขอขอบคุณพี่น้องประชาชน เกษตรกร ที่ได้ให้กำลังใจ ทั้งนี้ ผมจะแถลงและมอบนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทันที ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) แถลงนโยบายในวันที่ 11 – 12 ก.ย. นี้ และเตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ทันที เพราะปัญหาของพี่น้องเกษตรกรสะสมมานาน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข โดยนโยบายที่จะขับเคลื่อนเร่งด่วน อาทิ การพักหนี้เกษตรกร การยกระดับแปลงใหญ่ การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายฯ (IUU) การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลแล้ว จะลงพื้นที่จังหวัดพะเยาอีกครั้ง โดยจะประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อมอบนโยบายและหารือแนวทางการพัฒนาจังหวัดพะเยาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ อีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
สำหรับในพื้นที่จังหวัดพะเยา มีประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขและพัฒนา คือ การให้ความช่วยเหลือเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่หนองเล็งทราย การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ของกว๊านพะเยา การติดตามและขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเพิ่มการกักเก็บน้ำให้มากขึ้น
โอกาสนี้ รมว.เกษตรฯ ได้นำมังคุดมาแจกจ่ายให้กับประชาชนชาวพะเยา ซึ่งเป็นมังคุดที่รับซื้อจากเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 5 ตัน แบ่งเป็น 4 ตันสำหรับแจกจ่าย และอีก 1 ตัน ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เหมาะกับการบริโภคมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ ต่อไป