นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการตรวจสอบปัจจัยการผลิตและตรวจรับรอง ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นอาคารที่ให้บริการ ตรวจ วิเคราะห์ ของห้องปฏิบัติการสินค้าเกษตร ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ที่ได้มาตรฐานสากล รองรับความต้องการของเกษตรกร ผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งสอดรับกับข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญด้านคุณภาพสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ และ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ต้องมีคุณภาพสูง โดย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำโครงการ “Thai Premium Fruit” เพื่อขยายการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งใน และ ต่างประเทศ รวมถึงกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่าง ดำเนินการจัดทำโครงการ ห้องปฏิบัติการแห่งอนาคต “Doa Future Lab” เป็นการยกระดับ เทคโนโลยี นวัตกรรม ห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ลดปัญหา และ อุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ
อาคารปฏิบัติการตรวจสอบปัจจัยการผลิตและตรวจรับรอง ให้บริการวิเคราะห์ใน 7 ห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย
1) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ยและน้ำ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ย และน้ำที่ใช้ในทางการเกษตร
2) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดินและพืช ให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของดิน
3) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ให้บริการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในพืช ดิน และน้ำ
4) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์วัตถุอันตรายทางการเกษตร ให้บริการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี
5) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์จุลชีววิทยาและสารปนเปื้อน
6) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์โลหะหนัก หาปริมาณโลหะหนักใน ดิน น้ำ พืช และปุ๋ยอินทรีย์
7) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารสำคัญในพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการส่วนภูมิภาคแห่งเดียวที่สามารถวิเคราะห์สารสำคัญในพืชสมุนไพร สามารถวิเคราะห์สารสำคัญในขมิ้นชัน บัวบก ไพล กระชายดำ กระชายขาวและฟ้าทะลายโจร
มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จำนวน 2 ห้องปฏิบัติการ คือ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ย และ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง มีแผนในการเตรียมยื่นขอการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์วัตถุอันตรายทางการเกษตรในปี 2567
กรมวิชาการเกษตรมีพันธกิจในการพัฒนางานวิจัยด้านพืช และ วิชาการเกษตร กำกับดูแลระบบการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต พัฒนาระบบตรวจรับรองสินค้าเกษตรด้านพืชให้ได้มาตรฐาน ดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติ 6 ฉบับ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งการยกระดับวิชาการเกษตรไทย ต่อยอดสู่การพัฒนาศักยภาพภาคการเกษตรในทุกด้าน
ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1-8 มีบทบาทหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจของกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้แทนของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ ตระหนักถึงความสำคัญด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชของเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ การมีห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถยกระดับงานบริการตรวจรับรองและตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร สามารถเพิ่มศักยภาพการกำกับดูแลปัจจัยการผลิตให้เป็นไปตามกฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ
กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 มุ่งมั่นและเดินหน้าในการยกระดับห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคต่อสินค้าเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สนับสนุนในด้านการผลิตพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้เกษตรกรรักษามาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพและปลอดภัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ช่วยเพิ่มโอกาสในแข่งขันในตลาดโลก สร้างความมั่นคงทางการเกษตร