อย่าโทษ จนท. – ล้ง พบหนอนในทุเรียนจากยะลาส่งไปจีน เพราะไม่มีใครตรวจได้ เนื่องจากอยู่ในผล ชลธีนุ่มหนู ชี้ต้นเหตุมาจากการตัดทุเรียนอ่อน!
นาย ชลธี นุ่มหนู อดีต ผอ.สวพ.6 และอดีตมือปราบทุเรียนอ่อน เปิดเผยกรณีพบทุเรียนมีหนอนเจาะถูกส่งไปสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วถูกตีกลับหลายสิบตู้ จนส่งผลกระทบกับทุเรียนใต้ที่ส่งออกไปขณะนี้ ว่าไม่อยากให้โทษเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงาน และล้ง ส่งออก เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าภายในผลทุเรียนลูกใดมีหนอนเจาะทุเรียนอยู่ด้านในบ้าง เนื่องจากหนอนจะเจาะเปลือกเข้าไปตั้งแต่เริ่มติดผลอ่อนและฝังตัวอยู่ในนั้นจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว เมื่อผลทุเรียนถูกส่งไปปลายทางหนอนจะเติบโตพอดิบพอดี
เมื่อถามว่า ต้นเหตุของการพบหนอนเจาะทุเรียนอ่อนถูกส่งไปต่างประเทศมาจากสาเหตุใด ผอ.ชลธี ตอบว่า มาจากการตัดทุเรียนอ่อน-ตึง มากกว่าทุกปี เมื่อผ่านกระบวนการคัดบรรจุที่ล้ง หนอนจึงยังไม่ออกจากผล เพราะเนื้อในผลทุเรียนยังอ่อน หากตัดทุเรียนแก่แล้วทำกระบวนการเดียวกันหนอนที่อยู่ด้านในจะไม่พบ
ส่วนกรณีที่ภาคตะวันออก ทำไมจึงไม่พบหนอนเจาะทุเรียนเช่นเดียวกับภาคใต้ นายชลธี บอกว่า เคยพบการระบาด เมื่อปี 2535 แต่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ร่วมกับกองกีฎและสัตววิทยา กรมส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออก ศึกษาวิจัยวงจรชีวิตและการระบาดของหนอน จนออกเป็นคำแนะนำ โดยให้ติดกับดักแสงไฟเพื่อล่อจับแม่ผีเสื้อตัวเต็มวัยลดการวางไข่และเป็นตัวพยากรณ์การระบาดในสวนว่าต้องฉีดพ่นยาที่ผลทุเรียนเมื่อไหร่ ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันเมื่อผลทุเรียนมีอายุ 3-5 สัปดาห์หลังดอกบานเป็นต้น มีการตั้งกองทุนรับซื้อตัวหนอนและผีเสื้อตัวละ 5 บาทเพื่อตัดวงจรการระบาด
นาย ชลธี ระบุว่า หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จะพบมากในพื้นที่ จ.ยะลา เนื่องจากหนอนชนิดนี้เป็นสัตว์ประจำถิ่นที่มาจากมาเลย์ อีกอย่างต้นทุเรียนใน จ.ยะลา เป็นทุเรียนพื้นบ้าน ลำต้นสูง การดูแลรักษาจึงทำได้ยากเช่นกัน