นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพหลัก มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ วัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้จากอาชีพหลักและอาชีพเสริมให้แก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ โดยปีงบประมาณ 2566 โครงการกำหนดการดำเนินงาน 270 พื้นที่ รวม 65 จังหวัด เกษตรกรเป้าหมาย 13,670 ราย
ผลการดำเนินงานโครงการฯ รอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2565 – มิถุนายน 2566) ภาพรวมพบว่ามีการดำเนินงานใน 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมอบรมถ่ายทอดความรู้การพัฒนาอาชีพและการตลาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ 2) กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนระบบการผลิต การตลาด และเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และ 3) กิจกรรมการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตให้มีคุณภาพ และเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับสู่มาตรฐานดำเนินการได้ 176 พื้นที่ จากเป้าหมาย 270 พื้นที่ (ร้อยละ 65.19) รวม 65 จังหวัด ครบตามเป้าหมาย เกษตรกรได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้รวม 8,434 ราย จากเป้าหมาย 13,670 ราย (ร้อยละ 61.70)
ในการนี้ สศก. ได้ลงพื้นที่ติดตามเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ระหว่างวันที่ 26 – 30 มิถุนายน 2566 พบว่า มีเกษตรกรเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้รับจัดสรร 78 ราย เนื้อที่ประมาณ 768 ไร่ แบ่งเป็น เนื้อที่จัดสรรให้เกษตรกร 78 ราย ๆ ละ 6 ไร่ รวม 468 ไร่ และเป็นพื้นที่แปลงรวม 300 ไร่ (เกษตรกรสามารถเช่าที่เพื่อปลูกพืชตามความต้องการ)
สำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ของเกษตรกรรายละ 6 ไร่ เกษตรกรจะแบ่งเป็นที่ทำกินรายละ 5 ไร่ โดยส่วนใหญ่เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก และที่อยู่อาศัย 1 ไร่ พร้อมสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างบ้าน มูลค่ารายละ 40,000 บาท ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุกรายเป็นสมาชิกสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอวัฒนานคร (คทช.) จำกัด
นอกจากนี้ หน่วยงานได้มีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ตามภารกิจ ได้แก่ หลักสูตรการพัฒนาอาชีพ การส่งเสริม ด้านการตลาด ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ และหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพดินโดยกรมพัฒนาที่ดิน การเลี้ยงสัตว์น้ำโดยกรมประมง และการทำการเกษตรที่เหมาะสมโดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดอบรม พร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิ พันธุ์พืช/ประมง อาหารสัตว์ และวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร (ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ปูนไดโลไมท์)
ด้านผลการสำรวจรายได้ ปีเพาะปลูก 2565/66 พบว่า เกษตรกรที่เพาะปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเฉลี่ย 3,080 บาท/ไร่/ปี ด้านการเพาะปลูกข้าวเกษตรกรส่วนใหญ่นำมาบริโภคในครัวเรือนและนำผลผลิตจากการปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงปลาดุกมาใช้เป็นอาหารบริโภคในครัวเรือนเช่นกัน ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลงได้เฉลี่ย 9,896.57 บาท/ครัวเรือน/ปี และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายพืชผักสวนครัวเฉลี่ย 16,250 บาท/ครัวเรือน/ปี
“ภาพรวมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการเป็นอย่างมากเนื่องจากโครงการดังกล่าว ทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ จากหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย ทั้งนี้ ในระยะถัดไปเห็นควรส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการของกลุ่มในด้านการผลิต และการตลาด เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนของโครงการ” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว