เงินเฟ้อ ก.ค.66 เพิ่ม 0.38% หมู ราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง-ไข่ สูงขึ้น

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ ก.ค.66 เพิ่ม 0.38% ขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง หลังสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร น้ำมัน ปรับลดลง และฐานปีก่อนสูง ส่วนเฉลี่ย 7 เดือน เพิ่ม 2.19% คาดแนวโน้ม ส.ค. ยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ และที่เหลือทุกเดือนจะต่ำกว่า 1% ดันทั้งปีเงินเฟ้อเข้าเป้า 1-2% ค่ากลาง 1.5% แต่ต้องจับตาภัยแล้ง ราคาน้ำมัน ความขัดแย้ง ที่จะกดดัน

%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C %E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.ค.2566 เท่ากับ 107.82 เทียบกับมิ.ย.2566 เพิ่มขึ้น 0.01% เทียบกับเดือนก.ค.2565 เพิ่มขึ้น 0.38% แม้จะไม่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง เพราะเดือน มิ.ย.2566 อยู่ในระดับ 0.23% ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 22 เดือน แต่เดือนก.ค.2566 แม้ขยับขึ้นเล็กน้อย ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะสุกรและเครื่องประกอบอาหารที่ราคาปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และฐานราคาในเดือนก.ค.2565 ที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 2.19%

โดยเงินเฟ้อเดือน ก.ค.2566 ที่สูงขึ้น 0.38% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.49% ชะลอตัวลงค่อนข้างมากจากเดือน มิ.ย.2566 ที่สูงขึ้น 3.37% โดยสินค้าที่ยังคงมีราคาสูงขึ้น เช่น ผักและผลไม้สด (มะนาว ขิง มะเขือ เงาะ แตงโม ส้มเขียวหวาน) ไข่ (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตมีไม่มาก ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเหนียว ขนมอบ วุ้นเส้น) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน น้ำอัดลม) และผลิตภัณฑ์นม (นมถั่วเหลือง นมข้นหวาน ครีมเทียม) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ส่วนอาหารสำเร็จรูปราคาสูงขึ้นเล็กน้อย สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร เนื่องจากมีปริมาณออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ข้าวสารเจ้า ราคาเปลี่ยนแปลงตามโปรโมชัน เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) มะขามเปียก) และผักสดบางชนิด (ต้นหอม พริกสด ผักชี)

สำหรับหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.38% ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทั้งน้ำมันในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ (ยกเว้น E85) และเบนซิน และยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาลดลง เช่น เสื้อบุรุษและสตรี เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย กระดาษชำระ ยาสีฟัน) ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชายและสตรี) ค่ายา (ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไอ) และค่าโดยสารสาธารณะ (เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์เล็ก/สองแถว)

ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ค.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.2566 และเพิ่มขึ้น 0.86% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.2565 รวม 7 เดือนเพิ่มขึ้น 1.73%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ส.ค.2566 ได้รับแรงกดดันจากสินค้าอาหารบางประเภทที่ยังขยายตัว จากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง ราคาอาหารสำเร็จรูปยังอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมัน มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น และฐานที่ใช้คำนวณของเดือน ส.ค.2565 ยังอยู่ในระดับสูง คาดว่าเงินเฟ้อจะยังเพิ่มขึ้นไม่มากและขยายตัวอยู่ในกรอบแคบ ๆ  

ส่วนเดือนต่อ ๆ ไป จนถึงสิ้นปี ประเมินว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวต่ำกว่า 1% ทุกเดือน และเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1-2% ค่ากลาง 1.5% ภายใต้สมมติฐาน จีดีพี เพิ่ม 2.7-3.7% น้ำมันดิบดูไบ 71-81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยหากปัจจัยต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบเงินเฟ้อ ทั้งน้ำมัน ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เดือน ก.ย.2566 จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้ง