จากพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริม ทำให้ผ้าขิด “ลายตะขอสลับเอื้อ” หรือ “ผ้าขอเอื้อ” ได้รับโล่รางวัลพระราชทานชนะเลิศจากการประกวดผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ที่จัดขึ้นโดย ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เมื่อเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จนปัจจุบันได้กลายเป็น “ลายผ้าประจำจังหวัดอำนาจเจริญ” อย่างภาคภูมิ
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ ได้นำเอาภูมิปัญญา “ผ้าขอเอื้อ” มาขยายผลเพื่อสืบสานวัฒนธรรม และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้กับชาวจังหวัดอำนาจเจริญ ด้วยการพัฒนาศักยภาพการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
อาจารย์ ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน อาจารย์ประจำหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ผ้าขอเอื้อ” มีต้นกำเนิดที่บ้านคำพระ ตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
ในปัจจุบัน “ผ้าขอเอื้อ” ยังคงมีแหล่งผลิตที่บ้านคำพระ และชุมชนอื่นใกล้เคียงเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ หลังจากที่ทางจังหวัดฯ ได้รณรงค์ให้หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป แต่งกายด้วยผ้าขอเอื้อทุกอังคาร
อาจารย์ ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน และคณะ จึงได้ริเริ่ม “โครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อ สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ” ขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ตามข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า “ผ้าขอเอื้อ” เรียกตามลักษณะของ “ตะขอ” ที่ใช้เกี่ยวถังน้ำขึ้นมาจากบ่อ แทนสัญลักษณ์แห่ง “ความสามัคคี-ปรองดอง” ส่วน “เอื้อ” คือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่ซ้อนกันเป็นลายนูน 3 ชั้น แทนสัญลักษณ์แห่ง “ความเอื้อเฟื้อ”
เพื่อเพิ่มมูลค่าของผ้าขอเอื้อ ได้มีการนำเอาไม้มงคล 9 ชนิด ซึ่งปลูกในท้องถิ่น ได้แก่ ต้นสัก ต้นพะยูง ต้นราชพฤกษ์ ต้นขนุน ต้นยอ ต้นมะยม ต้นจานเหลือง ต้นกล้วย และครั่ง มาย้อมสีผ้าขอเอื้อ เพื่อเสริมพลังแห่งการเป็น “ผ้ามหาอำนาจ” ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของจังหวัด และเสริมบารมีให้กับผู้สวมใส่ ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่า
ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้เรียนรู้ตั้งแต่วิธีการปลูกฝ้าย การย้อมสีจากธรรมชาติ การทอมือ การแปรรูป การตลาด และการปรับปรุงคุณภาพผ้า ตลอดทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ของที่ระลึก ฯลฯ รวมทั้งในอนาคตจะเปิดตลาดออนไลน์เพื่อจำหน่ายสินค้าให้แพร่หลายวงกว้าง
และจะเป็นการพัฒนาสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG8 Decent Work and Economic Growth เพื่อลดปัญหาการว่างงาน และ SDG11 Sustainable Cities and Communities เพื่อพัฒนาชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป