ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบใหม่เริ่มแล้วในปี 2566 สร้างความร้อนแล้งรุนแรงขึ้น สะท้อนผ่านปริมาณน้ำในเขื่อนและน้ำฝนในปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย
โดยคาดว่า เอลนีโญจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ที่จะมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมาก ประกอบด้วยข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ ให้มีความเสียหายรวมราว 48,000 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายของข้าวเป็นหลัก
มองต่อไปในปี 2567 เอลนีโญอาจรุนแรงขึ้นและลากยาวถึงมี.ค.2567 เป็นอย่างน้อย จะสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพืชฤดูแล้ง ทั้งด้านปริมาณและจำนวนชนิดพืชที่เสียหาย ดันมูลค่าความเสียหายมากขึ้นกว่าปี 2566 เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังจะทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำในเขื่อนเป็นหลักและปลูกมากในภาคกลางที่เผชิญระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต ผนวกกับผลผลิตต่อไร่ที่สูง ทำให้ความเสียหายคงมีมาก รวมไปถึงพืชฤดูแล้งอื่นอย่างมันสำปะหลัง และอ้อย ที่อาจได้รับความเสียหายชัดเจน
นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศโดยรวมที่ร้อนแล้งในปี 2567 อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปีในไตรมาสที่ 2 ด้วย ที่อาจปลูกไม่ได้หรือมีผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง กดดันผลผลิตข้าวนาปี ทำให้ภาพรวมในปี2567 ความเสียหายของข้าวคงมีสูง เพราะมาจากทั้งข้าวนาปรังและนาปี ซึ่งอาจมีตัวเลขความเสียหายใกล้เคียงหรือมากกว่าปี 2558
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามระดับความรุนแรงของเอลนีโญในระยะข้างหน้า รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่จะส่งผลต่อประเภทพืชที่ได้รับความเสียหายด้วย
สำหรับผลกระทบต่อธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ คงต้องเผชิญราคาวัตถุดิบต้นน้ำที่สูง และอาจเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบได้ในบางจังหวะ
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำของไทย คงได้รับผลกระทบดังกล่าวในระดับที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางธุรกิจและความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละราย ดังนั้นการเร่งเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนด้านราคาและอุปทานสินค้าเกษตรต้นน้ำ นับว่ามีความจำเป็น