ส่งออกมิ.ย.66 ลด 6.4% สินค้าเกษตรลด7.4% พาณิชย์คาดครึ่งปีหลังดีขึ้น ยังลุ้นทำได้ตามเป้า

“พาณิชย์”เผยส่งออก มิ.ย.66 มีมูลค่า 24,826 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 6.4% สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงหมด โดยสินค้าเกษตร ลด 7.4% คาดครึ่งปีหลังดีขึ้น เดือน ก.ค. มีลุ้นตัวเลขเป็นบวก หลังติดลบมานาน ประเมินทั้งปียังคาดทำได้ตามเป้าทำงาน 1-2%          
         

64c0df12b91a8
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมิ.ย.2566 มีมูลค่า 24,826 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.4% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 848,926.6 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 24,768.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.3% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 857,187.9 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 57.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 8,261.3 ล้านบาท รวมการส่งออก 6 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 141,170.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 5.4% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 4,790,352.2 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 147,477.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 3.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,067,514.3 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 6,307.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 277,162.1 ล้านบาท
        

สำหรับการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 8.6% โดยสินค้าเกษตร ลด 7.4% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 10.2% โดยสินค้าที่หดตัว เช่น ข้าว ลด 15% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลด 16.7% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 16.7% ยางพารา ลด 43% อาหารสัตว์เลี้ยง ลด 16.1% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ลด 22.5% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ลด 80.8% ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 14.2% น้ำตาลทราย เพิ่ม 31.4% เครื่องดื่ม เพิ่ม 8.3% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 10.7% ไอศกรีม เพิ่ม 11.3%
         

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลด 4.6% สินค้าสำคัญที่ลด เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 21.7% เครื่องคอมพิวเตอร์ อปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 20.1% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลด 9% และสินค้าที่เพิ่ม เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เพิ่ม 7.2% แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 5.3% อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 31.2% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เพิ่ม 68.7% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 46.8% เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เพิ่ม 30.3%
         

ทางด้านการส่งออกไปตลาดสำคัญ ตลาดหลัก ลด 8.5% จากการลดลงของตลาดสหรัฐฯ 4.8% อาเซียน 5 ประเทศ 18% และสหภาพยุโรป 9% CLMV ลด 23.1% แต่จีน เพิ่ม 4.5% ญี่ปุ่น เพิ่ม 2.6% ตลาดรอง ลด 2% โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ 17.5% ตะวันออกกลาง 8.6% แอฟริกา 8.5% ลาตินอเมริกา 10.2 แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 9.7% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 112.5% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 8.8% ส่วนตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 19.7% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 19.3%

ขณะที่การค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวม เดือน มิ.ย.2566 การค้ารวมมีมูลค่า 152,364 ล้านบาท ลด 8.84% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 97,182 ล้านบาท ลด 5.04% และนำเข้า มูลค่า 55,183 ล้านบาท ลด 14.85% เกินดุลการค้า 41,999 ล้านบาท โดยส่งออกชายแดน ไปมาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชาลดลง และการส่งออกผ่านแดนไปจีน สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น แต่เวียดนามลดลง ส่วนยอดรวม 6 เดือน การค้ารวม มูลค่า 895,018 ล้านบาท เพิ่ม 2.23% เป็นการส่งออก 517,921 ล้านบาท เพิ่ม 2.37% และนำเข้า 377,098 ล้านบาท เพิ่ม 2.04% เกินดุลการค้า 140,823 ล้านบาท
         

นายกีรติ กล่าวว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก มียอดเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 23,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยหากเทียบในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 มียอดเฉลี่ยอยู่ที่ 20,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง จะยังฟื้นตัวดีขึ้น หากทำได้เฉลี่ยเดือนละ 24,000 ล้านเหรียญขึ้นไป โอกาสที่การส่งออกทั้งปีจะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1-2% ซึ่งเป็นเป้าทำงาน ก็มีความเป็นไปได้ โดยการส่งออกตั้งแต่เดือนก.ค. เป็นต้นไป น่าจะเห็นตัวเลขกลับมาเป็นบวกได้ เพราะฐานปีก่อนต่ำ คู่ค้ายังมีความต้องการสินค้าไทย และกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการเร่งผลักดันการส่องอกร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ และมีความกังวลในเรื่องการขาดแคลนอาหาร ที่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตร
         

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งออกได้เฉลี่ย 24,300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน การส่งออกทั้งปี ก็จะเท่ากับปีที่แล้ว คือ ไม่ขยายตัว หรืออาจจะเป็นบวกได้ และมองว่า เดือนมิ.ย. จะเป็นเดือนสุดท้ายของปีนี้ที่จะติดลบ ถ้าวัดจากการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนที่ระดับ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป
         

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือน มิ.ย.2566 ที่ลดลง 6.4% เป็นการส่งออกติดลบต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ที่ลดลง 4.2% พ.ย.2565 ลด 5.6% ธ.ค.2565 ลด 14.3% ม.ค.2566 ลด 4.6% ก.พ.2566 ลด 4.8% มี.ค.ลด 4.2% เม.ย.2566 ลด 7.7% พ.ค.ลด 4.6%