กรมส่งเสริมการเกษตร น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาพื้นที่รอบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบ่อดินขาว อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยถ่ายทอดเทคโนโลยี มอบเมล็ดพันธุ์พืชผัก และชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เกษตรกรได้ทำแปลงผักผสมผสาน สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ด้านเกษตรกรต่างนำพืชผักที่ปลูกไปขายในตลาด มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่สระบ่อดินขาว อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานความช่วยเหลือในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และใช้ทำการเกษตร และได้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเขาวง การปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สร้างระบบสำรองน้ำและเชื่อมต่อแหล่งน้ำสู่สระบ่อดินขาว ฟื้นฟูทางน้ำที่เชื่อมต่อกับคลองชัยนาท – ป่าสัก รวมทั้งเสริมระบบสำรองน้ำและจ่ายน้ำเพื่ออุปโภค บริโภคและการเกษตร และใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่สระบ่อดินขาว ตั้งแต่ปี 2565 โดยถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตร หลักสูตร หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำแปลงต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงาน สามารถขยายผลแปลงต้นแบบไปยังพื้นที่เกษตรกรรายอื่น ๆ รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการปลูกพืชผักบริเวณแนวคันดินทั้ง 2 ฝั่ง ของสระบ่อดินขาว เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ในการปลูกพืชผักระยะสั้น ซึ่งดูแลโดยประชาชนรอบสระ โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบดูแลพืชผัก ผลผลิตที่ได้แบ่งปันนำไปบริโภคในครัวเรือน
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตร หลักสูตร หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเกษตรกรในพื้นที่รอบโครงการฯ เข้ารับการอบรม พร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ผัก ต้นไม้ผล พืชสมุนไพร ค่าวัสดุ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี สมุนไพรไล่แมลง สารชีวภัณฑ์ป้องกันเชื้อรา น้ำหมักชีวภาพ และอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการจัดทำแปลงเกษตรผสมผสานให้กับเกษตรกรที่ผ่านการอบรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นแปลงต้นแบบและสามารถขยายผลแปลงต้นแบบไปยังพื้นที่เกษตรกรรายอื่น ๆ จากการดำเนินงาน ทำให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการ ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ลดรายจ่าย มีรายได้ มีอาชีพ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ด้านนางนิด บัวสอน เกษตรกรตำบลพรหมนิมิต อำเภอตาคลี กล่าวว่า ได้รับเมล็ดพันธุ์พืชผักจากกรมส่งเสริมการเกษตร โดยปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น ถั่วฝักยาว กุยช่าย ข้าวโพด กล้วย มันแกว และหอมแดง เนื้อที่ปลูกประมาณ 3 ไร่เศษ ใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกอร์เข้าช่วย เพื่อลดการใช้แรงงานคน โดยพืชผักต่าง ๆ ปลูกสลับกันไป หากชนิดใดถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็นำไปขายที่ตลาดใกล้บ้าน รายได้เฉลี่ยวันละ 700-800 บาท ทำให้พออยู่ได้ มีพอกัน เป็นเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช้จ่ายเกินตัวก็เพียงพอแล้ว ที่สำคัญได้อยู่ในหมู่บ้านและอยู่กับลูกหลาน ชีวิตก็มีความสุขแล้ว