การเลี้ยงหมูสำหรับ ชมพูนุท บุญทิม หรือ ใบพลู เป็นภาพชินตาที่เห็นและสัมผัสมาตั้งแต่เกิด จนกลายเป็นทักษะอาชีพติดตัวของเธอ หลักจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อปี 2555 จึงไม่ลังเลที่จะรับมรดกอาชีพที่พ่อแม่สร้างไว้ แต่ด้วยหัวคิดทันสมัยเธอจึงเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงหมูขุน จากเลี้ยงในโรงเรือนเปิด เป็นฟาร์มระบบปิดมาตรฐาน และขยายการเลี้ยงจาก 200-300 ตัว เป็น 3,500 ตัว
หลังจากทำฟาร์มหมูที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวจนประสบความสำเร็จ ชมพูนุท จึงต้องการขยายการเลี้ยงหมูให้ใหญ่ขึ้น สร้างธุรกิจนี้ให้เติบโตขึ้น จึงตัดสินใจเปิดใจกับการร่วมเป็นเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ แม้ว่าเมื่อก่อนจะมีความคิดว่าต้องทำธุรกิจเอง โดยไม่ทำคอนแทรคกับใคร เพราะชอบความอิสระ จนอาจเรียกว่าเป็นการตั้งกำแพงในใจก็ได้
“เมื่อเป้าหมายคือการเติบโต และต้องการขยายงานให้ใหญ่ขึ้น บนพื้นฐานความเสี่ยงต้องต่ำ ซีพีเอฟ ถือเป็นบริษัทต้นๆที่คิดถึง เพราะตัวเอง “โตมากับซีพี” เนื่องจากที่ฟาร์มของพ่อแม่ก็ซื้อลูกหมูซีพีเข้าเลี้ยง และใช้อาหารของบริษัทอยู่แล้ว และยังอยากพิสูจน์ในสิ่งที่บางคนยังเข้าใจผิดว่า การร่วมธุรกิจกับบริษัทใหญ่เราอาจเสียเปรียบ แต่เมื่อได้มาร่วมทางเดินกับซีพีเอฟแล้ว ก็พิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่คนอื่นคิดนั้นไม่ใช่เลย ในทางกลับกันอาชีพเรามั่นคง รายได้และผลตอบแทนดีเกินกว่าที่คิดไว้เสียอีก วันนี้นอกจากตัวเองจะประสบความสำเร็จแล้ว คนรอบข้างก็ได้รู้ว่าบริษัทสนับสนุนเกษตรกรให้เติบโตไปด้วยกันจริง ๆ” ชมพูนุท เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 33 ปี กล่าวอย่างมั่นใจ
สำหรับการขยายความสำเร็จสู่ “เนตรบุญฟาร์ม” ต.หนองประตู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี บนพื้นที่ 47 ไร่ เธอตัดสินใจลงทุนเลี้ยงหมูในเฟสใหญ่ ก่อสร้างโรงเรือน 7 หลัง ความจุหมูขุนรวม 10,500 ตัว เมื่อกลางปี 2565 พร้อมนำระบบฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) มาใช้บริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงหมู ทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ในโรงเรือนเลี้ยงและจุดสำคัญอื่น ๆ รอบฟาร์ม มีระบบสั่งการทำงานเปิด-ปิดพัดลม และการทำงานของ Cooling Pad ด้วยระบบอัตโนมัติ ส่วนการให้อาหารใช้ไซโล และกำลังพัฒนาให้มีระบบสั่งการอัตโนมัติที่คาดว่าจะติดตั้งได้ในเร็ว ๆ นี้
ชมพูนุท บอกว่า ระบบ Smart Farm มีส่วนสำคัญมากในการผลักดันความสำเร็จ เพราะสามารถจัดการและสั่งการทุกอย่างผ่านโทรศัพท์ กรณีมีปัญหาจะมีข้อความแจ้งเตือนทันที ทำให้การทำงานง่ายขึ้น แก้ปัญหาทันท่วงที ทีมงานเข้าดูแลแก้ไขอย่างรวดเร็ว สามารถดูได้ทุกที่ทุกเวลา
“ถ้าไม่มีสมาร์ทฟาร์มชีวิตยุ่งยากแน่นอน วันนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทกับเกษตรกรมากขึ้น แม้จะมีการลงทุนเพิ่ม แต่ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อตัดสินใจทำสมาร์ทฟาร์มและได้ใช้จริง ๆ ถือว่าคุ้มมาก เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถบริหารจัดการฟาร์มได้ อย่างเช่นตอนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็ยังสั่งงานข้ามประเทศได้ สามารถดูการทำงานของระบบและทีมงานได้ ทุกวันนี้ทำงานง่ายมากแค่เพียงมีโทรศัพท์เท่านั้น” ชมพูนุท กล่าว
นอกจากระบบการผลิตอัจฉริยะแล้ว เนตรบุญฟาร์ม ยังใช้ระบบไบโอแก๊ส ในการบำบัดของเสียในการผลิต ได้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานสะอาด นำมาปั่นไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ช่วยลดค่าไฟได้ถึง 50-60% และที่นี่ยังติดตั้งเครื่องแยกกากตะกอนก่อนเข้าระบบไบโอแก๊ส เพื่อลดตะกอนในบ่อหมัก กากตะกอนที่ได้นำไปใช้ในสวนผลไม้ ขณะเดียวกัน น้ำหลังการบำบัดก็ยังนำไปแบ่งปัน เป็นน้ำปุ๋ยให้กับเพื่อนเกษตรกรรอบข้าง ช่วยป้องกันปัญหาภัยแล้งและทำให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี
สำหรับเคล็ดลับความสำเร็จของชมพูนุท อย่างแรกคือต้องทำให้งานทั้งหมดเป็นระบบ ต้องทุ่มเทกับงาน ใส่ใจ ดูแลอย่างจริงจัง ปัจจัยต่อมา คือการสร้างทีมงานแบบใจแลกใจ เพราะทุกคนใหม่หมดไม่มีประสบการณ์เลย จึงต้องสอนกันตั้งแต่เริ่มต้น ให้เรียนรู้ไปด้วยกัน โชคดีที่ทีมงานทุกคนเปิดรับและเรียนรู้พร้อมก้าวไปด้วยกัน การผลิตจึงมีประสิทธิภาพดี หมูมีคุณภาพ ความเสียหายน้อย ผลตอบแทนจึงมากตามไปด้วย
“หนึ่งปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์เหนือความคาดหมายหลาย ๆ อย่าง จริง ๆ แล้วไม่ได้ตั้งเป้าหมายเรื่องตัวเลขผลกำไรเลย ขอแค่วางระบบให้เข้มแข็ง แต่ผลที่ออกมาดีกว่าที่คิดไว้มาก ๆ วันนี้ความสำเร็จที่ตั้งเอาไว้ถือว่าได้เริ่มต้นแล้ว และเรามีเพื่อนคู่คิดอย่างซีพีเอฟที่จะเดินไปด้วยกัน บริษัทไม่เคยทิ้งเกษตรกร เวลามีปัญหาผู้บริหารซีพีเอฟก็ลงมาช่วยดูเอง เพื่อร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง เราจึงอุ่นใจที่ได้บริษัทมาดูแลสนับสนุนใกล้ชิด ซึ่งหากเราทำให้เต็มที่ ความสำเร็จย่อมเกิดกับทั้งตัวเองและบริษัทไปพร้อม ๆ กัน เรียกว่า WIN – WIN ทั้งคู่ เชื่อว่าอาชีพนี้จะสร้างความมั่นคง วันนี้พ่อกับแม่วางมือแล้วเรียกว่าเกษียณอย่างเกษมโดยให้เราและสามีดูแลกิจการแทนทั้งหมด และการเลี้ยงหมูก็จะกลายเป็นมรดกอาชีพให้กับลูกทั้ง 2 คนของเราได้อย่างแน่นอน” ชมพูนุท กล่าวอย่างมั่นใจ
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของคอนแทรคฟาร์มเกษตรกรยุคใหม่ที่เปิดรับเทคโนโลยี เปิดใจนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ยกระดับกระบวนการผลิตหมูให้มีประสิทธิภาพ และไม่หยุดพัฒนา จนประสบความสำเร็จมีอาชีพที่มั่นคง