นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท. 12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตเกษตรกรรมอินทรีย์และอาหารปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 – 2570
โดยมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประกอบกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่กระแสการบริโภคอาหารอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าสินค้าที่ปลอดภัยจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคได้นำไปสู่กระแสรักสุขภาพ ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฅนพิจิตรอินทรีย์ ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร กลุ่มวิสาหกิจต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล ผลผลิตของกลุ่มได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ได้แก่ มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหรัฐอเมริกา (USDA Organic) , มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU) และมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์แคนาดา(Canada Organic Regime – COR) ซึ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในระดับสากล ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าในตลาดและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค
สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฅนพิจิตรอินทรีย์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิก 16 รายโดยมีนายสิทธา สุขกันท์ เป็นประธานกลุ่ม และยังเป็น young smart farmer จังหวัดพิจิตร และประธานคลัสเตอร์ข้าวฅนอินทรีย์ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 3 ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจฯ มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม300 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ได้รับรองมาตรฐานแล้วประมาณ 200 ไร่ และอีก 100 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการควบคุมตรวจสอบแปลงให้เป็นไปตามมาตรฐาน
สถานการณ์การผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฅนพิจิตรอินทรีย์ พื้นที่ปลูกที่ผ่านมาตรฐานเกษตรกรจะทำการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ปีละ 2 รอบการผลิต โดยพันธุ์ที่นิยมปลูก คือ พันธุ์ชัยนาท 1 เนื่องจากมีปริมาณแป้งสูงเหมาะสำหรับการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปแบบเส้น
สำหรับในปีเพาะปลูก 2565/66 พบว่า เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,747 บาท/ไร่/รอบการผลิตเกษตรกรเพาะปลูกรอบแรก ช่วงเดือนมิถุนายน เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกันยายน และรอบที่สองเพาะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 626 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิตเกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 8,138 บาท/ไร่/รอบการผลิต และผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 3,391 บาท/ไร่/รอบการผลิต ซึ่งหากคิดเป็นผลตอบแทนของกลุ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 3,255,200 บาท/ปี ทั้งนี้ ด้านสถานการณ์ตลาด กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (MOU) กับ บริษัท ลินมาร์ค จำกัด ที่มีสำนักงานในประเทศไทย และมีโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรับซื้อในราคา 13,000 บาท/ตัน หรือ 13 บาท/กิโลกรัม
โดยกลุ่มวิสาหกิจฯ จะส่งผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดให้กับบริษัท เพื่อนำไปผลิตเป็นเส้นพาสตา เส้นราเมงและเส้นก๋วยเตี๋ยว ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศแถบทวีปยุโรป ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ชำระเงินร้อยละ 50 ของรายได้ที่กลุ่มจะได้รับที่กำหนดในสัญญา ณ วันทำสัญญาเป็นการจ่ายล่วงหน้าเพื่อให้กลุ่มนำไปเป็นทุนในการเพาะปลูกต่อไป
ด้านการบริหารจัดการกลุ่มเพื่อความยั่งยืน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฅนพิจิตรอินทรีย์ได้มีกลไกการขับเคลื่อนภารกิจและบริหารจัดการร่วมกัน มีการอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้และต่อยอดเป็นแนวปฏิบัติ ทั้งในเรื่องของมาตรฐานสากลเพื่อการส่งออก การจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรสมาชิกและเจ้าหน้าที่จากบริษัทที่เป็นผู้ตรวจรับรองมาตรฐาน
รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยและอ้อยคั้นน้ำเพิ่มเติมจากการปลูกข้าว เพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนในครัวเรือนของสมาชิก สามารถนำผลผลิตมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่หลากหลายได้ อีกทั้ง กลุ่มวิสาหกิจฯ ยังเป็นแหล่งสำหรับเรียนรู้และศึกษาดูงานในเรื่องของเทคนิคการปลูกข้าวอินทรีย์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มวิสาหกิจฯ จะประสบความสำเร็จในการผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล แต่จะยังคงเดินหน้าพัฒนาศักยภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง
โดยวางเป้าหมายในการขยายพื้นที่ปลูกให้สามารถผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีความต้องการ 2,500 ตัน/ปี ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตข้าวอินทรีย์หรือต้องการศึกษาดูงาน สามารถสอบถามได้ที่ นายสิทธา สุขกันท์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฅนพิจิตรอินทรีย์ ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร โทร 08 0459 9553 ยินดีให้คำแนะนำแก่ทุกท่าน