แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นสักขีพยาน 4 ฝ่ายลงนาม ปฏิญญา ปกป้อง “คลองอู่ตะเภา” ประกาศเอกราชสิ่งแวดล้อม ในวันสิ่งแวดล้อมโลก ตั้งเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่มีส่วนร่วม
เวลา 13.00 น. วันที่ 5 มิถุนายน 2565 ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กิจกรรมสร้างจิตสำนึกด้านความเข็มแข็งของชุมชน ประกาศเอกราชสิ่งแวดล้อม“จากคลองภูมี ถึงอู่ตะเภา” ซึ่งได้รับงบประมาณในการจัดจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดโดยคณะกรรมการการแก้ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลา
ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ซึ่งตรงกับวัน “สิ่งแวดล้อมโลก”และกำหนดให้เป็นวัน“คลองอู่ตะเภา” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี และนายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวรายงาน
พร้อมทั้งมีการลงนามปฏิญญา 4 ฝ่าย เพื่อร่วมปกป้องคลองอู่ตะเภา ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา,รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งลาน และประธานเยาวชนปกป้องคลองอู่ตะเภา โดยมี พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และนายเดชอิศม์ ขาวทองส.ส.สงขลา เขต 5 จ.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นสักขีพยาน
และมีการเสวนา การประกาศเอกราชสิ่งแวดล้อม “จากคลองภูมี ถึงอู่ตะเภา” จากตัวแทน 4 ฝ่ายเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนตาม ปฏิญญา ที่ได้ลงนามร่วมกัน ก่อนที่จะร่วมพิธีปล่อยปลาพร้อมกัน จำนวน 9 จุด ในคลองอู่ตะเภา ร่วมกับกลุ่มเยาวชนกว่า 300 คน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือบริเวณปลายคลองอู่ตะเภา สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11
นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ดีใจที่เยาวชนมาร่วมกันในการทำหน้าที่ปกป้องและขับเคลื่อนการดูแลคลองอู่ตะเตา “องค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีนโยบายในเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติตามยุทธศาสาตร์อยู่แล้ว”
นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา เขต 5 จ.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์และในฐานะกรรมการการแก้ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ที่มาของการให้ความสำคัญกับการดูแลคลองอู่ตะเภา เป็นเหตุผลส่วนตัวที่เป็นเด็กบ้านนอกเกิดที่อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ตอนเด็ก ๆว่ายน้ำในคลอง หาปลาในคลอง ในน้ำมีปลา ในนามีทั้งข้าวและปลา แต่ระยะหลังปรากฏว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมมาอยู่รอบๆคลอง ทั้งคลองภูมีและคลองอู่ตะเภา ซึ่งก็ดีใจที่มีความเจริญมาสู่ชุมชน ท้องถิ่น จากที่มีโรงงานจำนวนมาก ทำให้ลูกหลาน คนในชุมชน มีงานทำกัน แต่เมื่อมาดูเรื่องสิ่งแวดล้อมมีน้ำเสียในคลอง วันดีคืนดีมีปลาตลาดตลอดทั้งคลอง และระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลายประเมินค่าไม่ได้
“น้ำจากคลองอู่ตะเภานำมาผลิตเป็นน้ำประปา และสัตว์น้ำในคลองอู่ตะเภาตาย การนำน้ำจากคลองอู่ตะเภาไปในในทางการเกษตรและปศุสัตว์ จึงเป็นผลกระทบที่รุนแรง” และสุดท้ายปลายน้ำจากคลองอู่ตะเภาไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ทำให้น้ำสกปรกไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ทำให้ทะเลสาบสงขลาตื้นเขินนำไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทยไม่สะดวก ทำให้สัตว์น้ำหลายๆชนิดในทะเลสาบสงขลาเริ่มหายไป บางชนิดสูญพันธุ์ ถ้าปล่อยให้เป็นอยู่แบบนี้เยาวชนรุ่นหลังจะอยู่ไม่ได้แน่นอน ทะเลสาบสงขลาอาจจะกลายเป็นทะเลทราย เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่พวกเรามาร่วมกันแก้ เริ่มจากการตั้งคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งคณะกรรมการฯเองก็ไมมีสภาพบังคับอะไรมากมาย
นอกจากการขอความร่วมมือ ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ดีแต่อาจจะมีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ทำให้โรงงานที่ดีเสียหายไปด้วยจากการแอบปล่อยน้ำเสีย จึงอยากให้ทุกส่วนมาร่วมมือกันในแก้ปัญหา โดยที่ไม่มีคำว่า พวกผม พวกคุณ พวกโรงงาน พวกท้องถิ่น หรือพวกข้าราชการ
“หลังจากวันนี้ให้ทุกคนเป็นพวกเราจาก 4 ฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา คือ ตัวแทนโรงงานอุตสาหกรรม ให้คำนึกถึงการดูแลชุมชนและพื้นที่รอบโรงงานเหมือนบ้านของตัวเอง”
ส่วนที่สองคือภาครัฐไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมจังหวัด. สิ่งแวดล้อมภาค, สิ่งแวดล้อมจังหวัด, ด้านประมง, ปศุสัตว์,ชลประทาน ล้วนแล้วต้องมาดูแลแม่น้ำลำคลองทั้งสิ้น ต้องมาดูแลคุณภาพน้ำส่วนที่สามพี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 22 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับ 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด และฝ่ายที่สี่คือก็พี่น้องประชาชน ลูกหลานเยาวชนที่มาร่วมอบรม ในการเป็นเครือข่ายทำหน้าที่ปกป้องดุแลคลองอู่ตะเภา เพื่อทำหน้าที่เป็นปกป้องรักษาคลองอู่ตะเภาไว้ให้คนรุ่นต่อๆไปได้ เพราะฉะนั้นจาก 4 ฝ่ายหลอมรวมเป็นหนึ่ง จากพวกคุณมาเป็นพกเราแล้วเดินไปข้างหน้า
“หากเราจับมือกันได้อย่างเหนียวแน่น เราก็สามารถกู้เอกราชทางด้านสิ่งแวดล้อมกลับคืนมาได้อย่างแน่นอน และขยายไปยังคลองอื่นๆของจังหวัดสงขลาต่อไป”
นายศิวกร วิชากิจ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา มีการทำงานร่วมกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่แล้ว ในส่วนของตัวโครงการต่างก็มีการพูดคุยกันในกลุ่มสภาอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันการปฏิบัติตามกฎหมายถ้าหากใครจะเปิดโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีระบบการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีการลงทุนเป็นเงินหลายสิบล้าน เพื่อที่จะทำให้ในเรื่องกระบวนการผลิตน้ำเสียเข้ามาที่บ่อบัดและมีการผ่านกรรมวิธีก่อนที่จะปล่องสู่แม่น้ำลำคลองได้ กลุ่มอุตสาหกรรมเองก็มีการตระหนักและมีการช่วยเหลือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยกันในเรื่องการให้ความร่วมมือต่างๆเพราะเราตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้
“เห็นด้วยกับการกิจกรรมในครั้งนี้ และพร้อมให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างน้องๆเยาวชนที่เข้ารับการอบรมวันนี้ ช่วยทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา ถ้าพบเห็นการกระทำความผิดก็สามารถแจ้งมาที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมไหนที่ปล่อยน้ำเสียลงคลอง ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาก็จะมีมาตรการในการคุยกันภายในของเรา ซึ่งจะมีการแจ้ง ตักเตือน และกฎหมายรองรับอยู่แล้ว”
“กิจกรรมในวันนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านที่ตระหนักในเรื่องนี้ ผมเป็นคนสงขลา เกิดที่นี่ รักบ้านเกิดของตัวเอง ไม่มีทางที่จะปล่อยน้ำเสียลงคลอง”
นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เวทีกิจกรรมวันนี้เปิดเป็นครั้งแรกหลังจากโควิด-19 แต่ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะมาร่วมกันแก้ไขปัญหาในสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับแม่น้ำลำคลองของเรา ซึ่งวันนี้ก็มีการลงนามปฏิญญา 4 ฝ่ายกันเพื่อที่จะแสวงหาความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาไม่เฉพาะแค่คลองอู่ตะเภา แต่หมายถึงคลองอื่นๆทั้งจังหวัดในอนาคตให้คลองในพื้นที่จังหวัดสงขลาเป็นคลองสวยน้ำใสให้ได้ ซึ่งการตั้งคณะกรรมการการแก้ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อที่จะปกป้องแม่น้ำลำคลองของเราให้คืนสู่สภาพที่พี่น้องประชาขนสามารถใช้ประโยชน์ได้ และคิดว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจะมีบ้างที่เกิดจากข้อบกพร่อง แต่ไม่ใช่ความตั้งใจและความเห็นแก่ตัว เพราะเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะมาทำหน้าปกปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของเรา ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาเป็นส่วนใหญ่
“จังหวัดมีหน้าที่ในการบูรณาการทุกภาคส่วนในการที่จะให้ทุกภาคส่วนสามารถที่จะเดินไปด้วยกันให้ได้เดินไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานร่วมกันตามภารกิจหน้าที่ ๆในแต่ละส่วนรับผิดชอบ”