กรณีที่มีการจับทุเรียนเกิดขึ้น จนนำไปสู่ความจริงบางอย่างที่ชาวสวนเองก็คงไม่รู้ นั่นคือใบรับรอง GAP สวนของตัวเอง กลับไปอยู่ในมืออีกคน ทั้งที่ทุเรียนของตัวเองถูกขายไปอีกคน คงจะตอบไดีดีว่า การสวมสิทธิ์ใบ GAP ยังคงเกิดขึ้น
แม้ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ จ.ชุมพร เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ก็เกิดปัญหาใบ GAP ของชาวสวนบางคนถูกนำไปใช้ก่อนทั้งที่ยังไม่ได้ตัด หรือบางคนตัดแล้วขายไม่ได้เพราะใบ GAP เต็ม ตามข้อมูลที่ชาวสวนรายใหญ่ ให้ข้อมูลไว้ เหตุเพราะมีชิปปิ้ง บางกลุ่ม นำเอกสารของเกษตรกรไปใช้ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ราว 3-4 ปี ในพื้นที่ภาคใต้ และปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังอยู่ แม้กำลังจะมีความพยายามแก้ปัญหาก็ตาม
ใบรับรอง GAP จะระบุชื่อ-ที่อยู่ เจ้าของสวน พื้นที่เพาะปลูก (กี่ไร่) เพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงตรวจสอบหากเกิดปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก
ใบรับรอง GAP มีอายุการใช้งาน 3 ปี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ปีที่ 1 จะไม่มีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น จะเริ่มปีที่ 2 และ 3 เพราะใบ GAP ตกไปอยู่ในมือคนบางกลุ่มแล้ว สามารถนำไปใช้โดยที่เจ้าของสวนไม่รู้ตัว
ชลธี นุ่มหนู อดีต ผอ.สวพ.6 บอกว่า การสวมสิทธิ์ ซื้อ-ขาย ใบ GAP ชาวสวนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในช่วงที่รับราชการอยู่จะตรวจละเอียดมาก แต่ก็ยังพบมีการสวม หรือ ซื้อ-ขาย ใบ GAP
ในทุเรียน การขายใบ GAP จะอยู่ที่ราคา 5,000-20,000 บาท
ในลำใย การขายใบ GAP จะอยู่ที่ราคา หลักแสนบาท
ทางแก้สำหรับเจ้าของใบ GAP คือ ให้ถ่ายสำเนา ขีดค่อมตรงที่เป็นตัวหนังสือ แล้วเขียนรายละเอียด เช่น ชื่อ-นามสกุล ขายทุเรียน จำนวน…. ให้ใคร…..ช่วงวันที่เท่าใด…. ระบุให้ชัดเจน
ไม่แนะนำให้เขียนรายละเอียดในสำเนาตรงที่เป็นช่องว่าง เพราะสามารถลบข้อความได้
และ ไม่แนะนำให้เจ้าของใบ GAP ส่งตัวจริงให้ผู้ประกอบการ ต้องถ่ายสำเนา ขีดค่อม เขียนรายละเอียดให้ชัดเจน