นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ สศก. เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก มาตั้งแต่ ปี 2563 โดยได้มีการติดตามการดำเนินงานแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งการขับเคลื่อนงานดังกล่าว มีหน่วยงานร่วมบูรณาการ 7 กระทรวง และ 1 หน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (สกช.)
สำหรับปีงบประมาณ 2566 มีการบูรณาการทั้ง 7 กระทรวง รวม 23 หน่วยงาน ภายใต้งบประมาณรวม 1,444 ล้านบาท พื้นที่ดำเนินการ 7,255 ตำบล รวม 14 โครงการ 3 แนวทางพัฒนา คือ แนวทางที่ 1 พัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) ดำเนินการภายใต้ 7 โครงการ มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ไม่น้อยกว่า 20,000 ราย และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพไม่น้อยกว่า 110,000 ราย แนวทางที่ 2 ยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจ (กลางทาง) ดำเนินการภายใต้ 4 โครงการ โดยมีเป้าหมายเพื่อ พัฒนาสถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 600 กลุ่ม พัฒนาผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 3,500 ราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 4,700 ผลิตภัณฑ์ และแนวทางที่ 3 สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (ปลายทาง) ดำเนินการภายใต้ 3 โครงการ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาช่องทางการตลาด 55 ช่องทาง และรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 6
จากการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2565 – มีนาคม 2566) สศก. พบว่า แนวทางที่ 1 สามารถพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) รวมทั้งสิ้น 65,282 ราย จำแนกเป็นการสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จัดทำและมอบหนังสืออนุญาต ส.ป.ก. 4-01 จัดที่ดินให้แก่เกษตรกร 14,288 ราย (ร้อยละ 71.44 ของเป้าหมาย) และการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ 50,994 ราย (ร้อยละ 46.36 ของเป้าหมาย) ผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นต้น
แนวทางที่ 2 สามารถยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจ (กลางทาง) โดยพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มการผลิต ด้วยการยกระดับกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่มีศักยภาพให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร รวมจำนวน 572 กลุ่ม (ร้อยละ 95.33 ของเป้าหมาย) พัฒนาผู้ประกอบการ โดย พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และกลไกขับเคลื่อน OTOP รวม 1,500 ราย (ร้อยละ 42.86 ของเป้าหมาย) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการพัฒนาคุณภาพ ยกระดับสินค้า OTOP และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ (ไส้อั่วสมุนไพร สเต็กเนื้อสตูล หมูฝอยสมุนไพร เป็นต้น) ของกรมปศุสัตว์ และการพัฒนาความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวม 164 ผลิตภัณฑ์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ครบเป็นไปตามแผนในช่วงไตรมาสที่ 4
และแนวทางที่ 3 สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (ปลายทาง) โดยดำเนินการพัฒนาช่องทางการตลาดได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย Online (Facebook line) Offline (หนังสือพิมพ์ โปสเตอร์) และร้านขายของฝากห้างสรรพสินค้า (Siam Paragon Central World)
ด้านนางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ยังสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยจากข้อมูลพบว่า มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านตลาดนัดคนไทยยิ้มได้ในพื้นที่ 77 จังหวัด (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2566) ยอดจำหน่ายสินค้า 1,279 ล้านบาท และจากการจัดงาน OTOP CiTY 2022 (ระหว่างวันที่ 17 – 25 ธันวาคม 2565) ยอดจำหน่ายสินค้า 653 ล้านบาท ได้รวมทั้งสิ้นกว่า 1,932 ล้านบาท และยังคงมีแผนในการส่งเสริมช่องทางการตลาด เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนในไตรมาสที่ 3 และ 4 อย่างต่อเนื่อง
หากย้อนดูผลสำเร็จการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2566 (ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2566) สศก. พบว่า แนวทางที่ 1 พัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) มีการดำเนินการช่วยเหลือแหล่งทุนและที่ดินทำกินไปแล้ว 603,218 ราย (เป้าหมาย 600,00 ราย) ส่งเสริมอาชีพ 784,598 ราย (เป้าหมาย 780,000 ราย) แนวทางที่ 2 ยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจ (กลางทาง) ดำเนินการพัฒนาสถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน 4,909 กลุ่ม (เป้าหมาย 4,700 กลุ่ม) พัฒนาผู้ประกอบการชุมชน 52,423 ราย (เป้าหมาย 52,300 ราย) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 15,301 ผลิตภัณฑ์ (เป้าหมาย 19,700 ผลิตภัณฑ์) และแนวทางที่ 3 สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (ปลายทาง) ดำเนินการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าแล้ว 1,324 แห่ง(เป้าหมาย1,212 แห่ง) โดยสามารถ สร้างมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้วถึง 782,998 ล้านบาท
ทั้งนี้ สศก. มีแผนการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลของโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม 2566 พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงานฯ และจะนำเสนอผลการติดตามเป็นระยะต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถาม ได้ที่ ส่วนประเมินผลแผนพัฒนาการเกษตร ศูนย์ประเมินผล โทร. 0 2579 0507 หรือ E-mail: [email protected]