14 ปี ครบรอบวันสถาปนาพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ขับเคลื่อนงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียงต่อยอดสู่ตลาดชุมชน

23 มิถุนายน 2566 วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) หรือ พกฉ. ครบรอบ 14 ปี พิพิธภัณฑ์แห่งการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ด้านการเกษตร ศูนย์กลางแห่งการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคม

                 

%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98 6
พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯขับเคลื่อนงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง

พลอากาศเอก เสนาะ  พรรณพิกุล ผอ.สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า “การดำเนินงานตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือการจัดตลาดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นตลาดแห่งมิตรภาพ การแบ่งปันองค์ความรู้และจุดประกายความคิด โดยมีฟันเฟืองที่สำคัญคือพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้งานสำเร็จ เหล่าบุคคลผู้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตจริงจนสำเร็จ ผลิดอก ออกผลจนเห็นเป็นรูปธรรม เกิดเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนวิถีเกษตร พันธุกรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ตลอดจนถึงเผยแพร่ขยายผลนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคการเกษตรให้กับประชาชนผู้ที่สนใจ โดยมีพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ อีกทั้งตลาดเศรษฐกิจพอเพียง ยังเป็นพื้นที่แห่งการทดลองจำหน่าย สำหรับเกษตรกรในการสวมบทบาทเป็นพ่อค้า – แม่ค้า นำผลผลิตจากสวน ผลิตภัณฑ์จากแปลง ไปสู่ผู้บริโภค เริ่มจากการรู้จักให้ สู่การรู้จักขาย สร้างรายได้เลี้ยงตน ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่าการเกษตรเลี้ยงตนได้อย่างภาคภูมิ มั่นคง และยั่งยืน”

           

%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98 4
พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯขับเคลื่อนงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง

จากตลาดเศรษฐกิจพอเพียง สู่ 4 ตลาดชุมชนต้นแบบ โดยพลังของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯฝึกฝนจนชำนาญ กลับสู่การพัฒนาบ้านเกิด เริ่มที่ ตลาดซาวไฮ่ จ.อุทัยธานี ตั้งอยู่ในสวนของนายราเมศวร์  เลขยัน เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.อุทัยธานี  ศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาคกลาง “กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี” ตลาดแห่งความสำเร็จของการผนึกกำลังจากพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ทั้งจากกาญจนบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ที่ร่วมกันระดมความคิด ถอดต้นแบบการบริหารจัดการพื้นที่ของตลาดเศรษฐกิจพอเพียง สู่ตลาดที่มีทั้งสินค้าเกษตร ดนตรี ศิลปะ องค์ความรู้ และธรรมชาติ มาเที่ยวที่ตลาดซาวไฮ่ จะได้สัมผัสวิถีชาวบ้านอย่างแท้จริง ผักสวนครัว ผลไม้ตามฤดูกาล ของป่าจากชนเผ่า ลาน Work shop อบรมให้ความรู้จากพ่อค้า แม่ค้าที่มากประสบการณ์ รวมถึงเวทีสร้างโอกาสให้เด็กในชุมชนมาแสดงศิลปะ ดนตรีและความสามารถ จากร้านเพิงริมถนน สู่ตลาดในสวนแสนร่มเย็นแลนด์มาร์กของอำเภอบ้านไร่ จ.อุทัยธานี ที่เปิดให้บริการทุกวันเสาร์ – อาทิตย์

%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98 3
ต่อยอดสู่ตลาดชุมชน

ถัดมาขอขึ้นเหนือไปแอ๋วเมืองแพร่ “กาดขี้เมี่ยง” ที่ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดแพร่ “วัดนาตุ้ม” โดยมีผู้ใหญ่จืด เสกสรร  ภุมกา เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.แพร่ หัวเรี่ยว หัวแรงสำคัญในการสร้างตลาดสุขภาพ ร่วมกับคนในชุมชนวัด โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พื้นที่หน้าวัดใต้ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ศูนย์รวมใจของพี่น้องบ้านนาตุ้ม จัดตลาดสุขภาพทุกวันพุธ ระดม ปู่ ย่า ตา ยาย ลุกขึ้นมาร่วมกันออกกำลังกาย แช่มือ แช่เท้าด้วยน้ำสมุนไพร พร้อมด้วยพืช ผัก ผลผลิตของเด็กๆจากโรงเรียนนำมาจำหน่าย ตลาดแห่งนี้ถูกบรรจุ อยู่ในโปรแกรมเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัด เริ่มจากการอุดหนุนสินค้าจากเกษตรกร ตัวน้อย ตามด้วยการนั่งรถซาเล้งไปชมเตาหลอมเหล็ก และตีระฆังระเบิดในวัด จบทริปด้วยการเยี่ยมชมหอศาสตราแสนเมืองฮอม เป็นแหล่งรวบรวมอาวุธโบราณ เครื่องราง ของขลัง และศิลปะการต่อสู้โบราณ              

                 

%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98 2
ต่อยอดสู่ตลาดชุมชน

อีกหนึ่งตลาดที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือตลาดปันรักษ์ขุนเลย ที่ศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดเลย “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง” โดยกำนันแสวง  ดาปะ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.เลย ทุกวันอาทิตย์ เป็นการนัดพบกันของเหล่าเกษตรกร ชาวบ้านผู้มีใจรักในวิถีเกษตรมารวมตัวกันนำผลผลิตจากรั้ว จากสวนมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน    ที่มาเที่ยวชมภูป่าเปาะ หรือภูเขาฟูจิเมืองเลย ให้ได้แวะเวียนมาช้อปสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมถึงเยี่ยมชมเส้นทางผ้าฝ้าย ผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายเมืองเลย อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด

               

ทางด้านตลาดน้องใหม่ เพิ่งครบ 1 ปีไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นั่นคือ ตลาดในสวน@อเร็งญา ณ ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดขอนแก่น  “สวนอเร็งญา”  โดยพี่เล็ก สุรสิทธิ์ บุบผา เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.ขอนแก่น ตลาดที่เห็นถึงการรวมพลังของพี่น้องเครือข่ายในภาคอีสานทั้งจากจังหวัดเลย ชัยภูมิ มุกดาหาร และนครราชสีมา เพื่อผลักดันตลาดน้องใหม่ให้เป็นตลาดในสวนของคนในชุมชน เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ที่ 3 ของเดือน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งด้านการเกษตร การตลาด การขาย ให้กับพ่อค้า – แม่ค้าหน้าใหม่ ให้ขายได้ ตั้งราคาเป็น และกิจกรรมดนตรีในสวน สร้างบรรยากาศให้ครื้นเครงเพื่อพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวและการเรียนรู้ด้านการเกษตรในอนาคต

 

ตลาดชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ถือเป็นก้าวสำคัญของพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ที่ต้องการเผยแพร่องค์ความรู้ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ตนได้เรียนรู้ทดลองและลงมือทำจนสำเร็จให้เกิดเป็นแบบอย่างกับคนในชุมชน และคนรุ่นใหม่ ได้เห็นถึงโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน อีกทั้งเป็นการปลูกฝังค่านิยม และทัศนคติที่ดีให้กับลูกหลานได้ เห็นถึงความสำคัญของการเกษตร การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน และประเทศชาติ

                             

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เราทุกคนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้ทุกสถานการณ์ตามวิถีชีวิตของตนเอง ปัจจุบัน พกฉ. มีการเปิดศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ทั่วประเทศ รวมแล้ว 82 แห่ง และในปี 2566 นี้ ตั้งเป้าหมายจะเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ เพิ่มอีก 6 แห่ง เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับประชาชน ในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้าไปศึกษา หาความรู้ ปรึกษาปัญหาด้านการเกษตรภายใต้ภูมิสังคมที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ยังสร้างผู้สืบทอด เกษตรกรรุ่นใหม่ที่สามารถนำองค์ความรู้ วิถีเกษตรไทย ผนวกกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมภาคการเกษตรไปต่อยอด และพัฒนาเป็นการเกษตรแบบยั่งยืนต่อไป

                       

พลอากาศเอก เสนาะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปีที่ 14 ของพกฉ. เราตั้งใจและทุ่มเทแรงกาย แรงใจในการปฏิบัติงาน ทำคุณงามความดี จุดประกายในการรักชาติ รักแผ่นดิน รักสถาบันพระมหากษัตริย์และมุ่งมั่นการสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธาน ด้านการเกษตร เพื่อก้าวสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นนำแห่งการเรียนรู้ พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของกษัตริย์เกษตรและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศในอนาคต”

                           

พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯเปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดให้บริการในวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์   02-529-2212-13, 087-359-7171 คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือ facebook / Instagram /Line ID : @wisdomkingmuseum และ Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ