นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรครั้งที่ 1/2566 โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิตสินค้าเกษตรรายสินค้า ซึ่งประกอบด้วยการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรทดแทนการนำเข้า (ข้าวสาลี มันฝรั่ง กาแฟ ยูคาลิปตัส) ซึ่งได้มีการจัดทำ Roadmap การส่งเสริมการปลูกภายในประเทศ การแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรอง GAP โดยให้เน้นควบคุมคุณภาพและมาตรฐานตลอดห่วงโซ่ และให้นำจันทบุรีโมเดล ไปปรับใช้กับการควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคใต้ ปี 2566 การเตรียมการป้องกันโรคใบด่างมันสำปะหลัง การลดขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนและฝนทิ้งช่วง และการปฏิบัติการฝนหลวง
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานในสังกัด ขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิตสินค้าเกษตรรายสินค้า เพื่อทดแทนการนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศและส่งเสริมให้เกิดการส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบรับรองมาตรฐาน การอนุมัติ อนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกสินค้าเกษตร ให้ใช้เวลาดำเนินการอย่างกระชับและรวดเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการให้ได้รับประโยชน์ และหน่วยงานดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน ปี 2566 โดยกรมชลประทานรายงานผลการบริหารจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2565/66 ว่าเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำทั้ง 4 ด้าน
ประกอบด้วย 1) อุปโภค-บริโภค 2) รักษาระบบนิเวศน์และอื่น ๆ 3) เกษตรกรรม และ 4) อุตสาหกรรม โดยปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ข้อมูล ณ 1 พ.ค. 2566 จำนวน 20,062 ลบ.ม.
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 โดยเตรียมความพร้อมตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี พ.ศ. 2566 สู่ 6 แนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมชลประทาน ประกอบด้วย 1) เก็บกักเต็มประสิทธิภาพ 2) คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง 3) หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง 4) ระบบชลประทานเร่งระบาย 5) Stand by เครื่องมือเครื่องจักร 6) แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ พร้อมกันนี้ได้ร่วมมือกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการปรับแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง และการบริหารจัดการเครื่องบินให้เหมาะสม รองรับสถานะการณ์การเกิดภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในแต่ละพื้นที่ของทุกภาค โดยมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยฯ และจัดเตรียมอากาศยานให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 26 ลำ รวมทั้งจัดเตรียมบุคลากร สารฝนหลวง อุปกรณ์ประกอบการปฏิบัติการฝนหลวง และ ข้อมูลสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง ให้พร้อมสรรพสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงฤดูฝน และฝนทิ้งช่วง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ด้วย