ปลัดเกษตรฯ หารือสำนักงานศุลกากรจีนฯ ผลักดันความร่วมมือด้านการตรวจสอบ กักกันสินค้าเกษตร สร้างโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไทยเพิ่ม

 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับนายหวัง ลิ่งจวิ้น รัฐมนตรีช่วยว่าการสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of the People’s Republic of China: GACC) และคณะ ในโอกาสขอเข้าพบปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมหารือในประเด็นการผลักดันความร่วมมือด้านการตรวจสอบ กักกันสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีน โดยมีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เข้าร่วม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญระหว่างกัน โดยไทยนับเป็น 1 ใน 115 ประเทศที่สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนได้เป็นอันดับต้น ๆ และการพบปะกันในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการกระชับสัมพันธไมตรี รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสหารือประเด็นการผลักดันความร่วมมือด้านการตรวจสอบ กักกันสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่จะสามารถส่งออกผลผลิตทางการเกษตรทั้งผลไม้และปศุสัตว์ ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศไทยมูลค่ามหาศาลในอนาคตอีกด้วย

       

%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3 2
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

สำหรับประเด็นการหารือในวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคด้านสุขอนามัยพืชไทย-จีน (JTC-SPS) ครั้งที่ 7 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ประกอบด้วย 1) การเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอาหาร ได้แก่ เนื้อจระเข้ กุ้งก้ามกรามมีชีวิตเพื่อบริโภค อินทผาลัม สละ และเสาวรส ซึ่งสินค้าเกษตรทั้ง 5 ชนิด อยู่ระหว่างกระบวนการทางเอกสารและการพิจารณาจากจีนในการนำเข้ารวมทั้งการเปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่เพิ่มเติม และขยายตลาดเดิม 2) มาตรการการระงับการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและชิ้นส่วนสัตว์ปีกแช่แข็งไปจีน ซึ่งฝ่ายไทยได้ส่งเอกสารประกอบการพิจารณายกเลิกการระงับการส่งออกของสถานประกอบการ/โรงงานดังกล่าวแล้ว และทั้งสองฝ่ายจะติดตามความคืบหน้าและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด 3) การขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมของโรงงานเพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ และโรงงานเพื่อการส่งออกรังนกจากไทยไปยังจีน ผ่านระบบ CIFER และการขอขึ้นบัญชีรายชื่อบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพื่อส่งออกจากประเทศไทยไปยังจีน ฝ่ายจีนยินดีให้การสนับสนุนการจัดอบรมและให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

4) การเชื่อมโยงระบบใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Phyto ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มหารือและแลกเปลี่ยนการดำเนินการระหว่างกันบ้างแล้ว คาดว่าจะสามารถเชื่อมต่อระบบ e-Phyto ระหว่างกันได้โดยเร็ว และ 5) การประชุม JTC-SPS ครั้งที่ 8 ซึ่งฝ่ายจีนโดย GACC จะเป็นเข้าภาพจัดการประชุม JTC-SPS ครั้งที่ 8 ในช่วงปี 2567 และฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไป

660600001032
นายหวัง ลิ่งจวิ้น รมช.สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปลัดเกษตรฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าเกษตร โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดขั้นตอนและระยะเวลาการขออนุญาตการส่งออก ให้ใช้เวลา สั้นลง พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาทดแทนการทำงาน ได้แก่ การจัดทำแบบคำขอและการยื่นขอ ตรวจสอบและพิจารณาคำขอ การอนุมัติ การชำระค่าธรรมเนียม การออกใบอนุญาตและเอกสารอื่น รวมทั้งการจัดส่งใบอนุญาตและเอกสารอื่น เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการแก่เกษตรกรตลอดจนผู้ส่งออกไทยด้วย”