ก.เกษตรฯ ร่วมกับ FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ ม.เกษตรฯประชุมนโยบายด้านการเกษตรดิจิทัลของไทยกับการพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน

 

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง นโยบายด้านการเกษตรดิจิทัลของประเทศไทยกับการพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ร่วมกับ  ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  และ Mr. Aziz Elbehri, Senior Economist, FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ ห้องประชุมบอลรูม 3 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท

รองปลัดฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการ “การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านดิจิทัลทางการเกษตรไทย เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวจากสถานการณ์ Covid-19 (Agriculture Digitalization Policy Recommendation for Thailand in Support of COVID-19     Recovery)” ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างไทยและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ฉบับปี พ.ศ. 2561 – 2564 และโครงการ “Digital Village Ecosystem Pilot Development in Thailand” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ของ FAO ตามเป้าหมายหลัก 4 ประการ (4 betters) โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอโครงการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม ประชาสังคม สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ รวมถึงเกษตรกร และเพื่อนำเสนอนโยบายด้านเกษตรดิจิทัลของประเทศไทย รวมทั้งอภิปรายความเชื่อมโยงในการพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นประสบการณ์การดำเนินงาน ด้านเกษตรดิจิทัลทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร

               

%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3 4
ประชุมนโยบายด้านการเกษตรดิจิทัลของไทย

รองปลัดเกษตรฯ กล่าวว่า Digital Agriculture คือจุดพลิกโฉมของการอยู่รอดของภาคเกษตรและระบบอาหาร มีความยืดหยุ่นต่อวิกฤต ไม่ว่าจะโรคระบาดหรือวิกฤตด้านสภาวะภูมิอากาศและอื่น ๆ โดย Digital Agriculture นับว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเร่งรัดให้เกิดการพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารไปสู่ความยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา มุ่งยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อเป้าหมายในการทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูงด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นความเป็นพรีเมี่ยม มีความหลากหลายและกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร จนนำมาสู่การร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงเกษตรฯ FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และมหาวิทายาลัยเกษตรศาสตร์ ในการดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการประกอบไปด้วย 1) โครงการ Agriculture Digitalization Policy Recommendation for Thailand in Support of COVID-19 Recovery และ 2) โครงการ Digital Village Ecosystem Pilot Development in Thailand

สำหรับโครงการ Digital Village Ecosystem Pilot Development in Thailand เกิดจากการบูรณาการร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงเกษตรฯ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับว่าเป็นโครงการใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ของ FAO ตามเป้าหมายหลักสี่ประการ (4 betters) เพื่อบรรลุผลสำเร็จในการผลิตที่ดีขึ้น โภชนาการที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และชีวิตที่ดีขึ้น โดยโครงการดังกล่าวฯ       มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของการเกษตรดิจิทัล โดยการเชื่อมโยงชนบทกับเมือง และบูรณาการพื้นที่ชนบทให้เข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัล     เพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารและโภชนาการได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการขยายแนวคิดในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงบริการในชนบทและการกระจายรายได้

                 

“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนช่วยให้การดำเนินงานทั้ง 2 โครงการ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในวันนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจะสามารถนำผลการดำเนินโครงการดังกล่าวไปปรับใช้ในการทำงานที่เกี่ยวข้องได้ และนำความรู้และข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงร่วมกันอภิปรายความเชื่อมโยงกับการพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์การดำเนินงานด้านเกษตรดิจิทัล ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรต่อไป” รองปลัดเกษตรฯ กล่าว