เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในระยะออกดอกถึงระยะติดฝักให้เฝ้าระวังเพลี้ยอ่อนข้าวโพด
โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยอ่อนจะมาดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆของใบ และช่อดอกตัวผู้ ถ้าช่อดอกมีเพลี้ยอ่อนเกาะกินอยู่มากจะส่งผลให้ช่อดอกไม่บาน การติดเมล็ดน้อยและทำให้เมล็ดแก่เร็ว ทั้งที่เมล็ดยังไม่เต็มฝัก
หากมีการระบาดมาก จะพบกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆของลำต้น กาบหุ้มฝัก โดยเพลี้ยอ่อนชนิดมีปีกบินมาจากแปลงใกล้เคียง ตั้งแต่ข้าวโพดอายุประมาณ 15 วัน หลังจากนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ จะพบเพลี้ยอ่อนออกลูกเป็นตัวอ่อนรวมกันเป็นกลุ่มโดยเฉพาะบริเวณใต้ใบ
จากนั้นจะแพร่ขยายจากใบล่างขึ้นมาบนใบเรื่อยๆ และขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วจนพบปริมาณสูงสุดในระยะข้าวโพดกำลังผสมเกสร มักพบเกาะเป็นกลุ่มๆ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้นข้าวโพด เช่น ยอด กาบใบ โคนใบ กาบฝัก โดยจะพบมากที่สุดบริเวณช่อดอก ทำให้บริเวณที่ถูกดูดกินแสดงอาการเป็นจุดสีเหลืองปนแดง
นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร แนะวิธีป้องกันกำจัดในแหล่งที่มีการระบาดเป็นประจําในฤดูแล้ง หากสํารวจพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดแพร่กระจายจากใบล่างขึ้นมาและเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆทั่วแปลง
ควรป้องกันกําจัดก่อนข้าวโพดแทงช่อดอกตัวผู้ หรือก่อนดอกบาน จะให้ผลในการควบคุมได้ดี หากมีการระบาดเกิดขึ้นเฉพาะจุดให้พ่นสารฆ่าแมลง คาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เบตา–ไซฟลูทริน 2.5% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดอะชินอน 60% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
การพ่นสารฆ่าแมลงในระยะออกดอกควรพ่นเฉพาะจุด เมื่อพบความหนาแน่นของเพลี้ยอ่อนมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของช่อดอก และควรหลีกเลี่ยงพ่นสารเมื่อตรวจพบด้วงเต่าและแมลงหางหนีบ ซึ่งเป็นตัวห้ำของเพลี้ยอ่อน หลังจากข้าวโพดติดฝักแล้ว