ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า ต. มะขามเตี้ย อ. เมือง จ. สุราษฎร์ธานี นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงวิชาการ ครั้งที่ 9 “เปลี่ยนแนวทาง ปรับความคิด เพิ่มผลผลิตกุ้งไทย” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤษภาคม 2566 โดยสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านวิชาการและเทคโนโลยีในการเลี้ยงกุ้ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นประโยชน์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยมีนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นางสาวเยาวรัตน์ จันทร์หุ่น ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด หัวหน้าส่วนราชการ และเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งร่วมให้การต้อนรับ
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเล และปริมาณผลผลิตกุ้งทะเลของไทยมีปริมาณลดลงในปี 2564 แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง ประกอบกับความร่วมมือร่วมใจกันของพี่น้องเกษตรกร ภาคปัจจัยการผลิต โรงงานแปรรูป ห้องเย็น ร่วมทั้งกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้มีนโยบายในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลเป็นประเด็นที่เร่งด่วน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp Board โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหากุ้งทะเลอย่างรอบด้านเพื่อผลักดันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถผลิตกุ้งทะเลให้ได้ตามเป้าหมาย 400,000 ตัน ภายในในปี 2566 ส่งผลให้สถานการณ์กุ้งทะเลของไทยกลับมาอยู่ในช่วงพลิกฟื้น มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
สำหรับงานสัมมนาฯ ถือเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการระบบการเลี้ยงกุ้งทะเลที่ดี อาทิ การปล่อยลูกกุ้งที่มีขนาดและความหนาแน่นที่เหมาะสม คุณภาพน้ำและดินในบ่อเลี้ยงที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแล้วยังสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยการบริหารจัดการกิจกรรมในฟาร์มเพื่อลดปริมาณของเสียจากการเลี้ยงกุ้งให้เป็นศูนย์ (Zero waste) นำไปสู่แนวทางการผลิตกุ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลดีด้านภาพลักษณ์ของสินค้ากุ้งทะเลไทยต่อไป