.
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัญหาที่สำคัญในการผลิตทุเรียนคือการระบาดของโรค โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราไฟทอปธอราปาล์มมิโวลา ต้นเหตุสำคัญทำให้ต้นทุเรียนที่กำลังเติบโตทรุดโทรมลงไปจนถึงยืนต้นตายสร้างความเสียหายอย่างมากในแหล่งปลูกทุเรียนของไทยหลายแห่ง เมื่อโรครุนแรงรอยแผลเน่าจะลุกลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทรุดโทรมและยืนต้นตายสภาวะที่เกิดการระบาดได้ดีคือช่วงฝนตกชุก ดินมีน้ำขัง หรืออากาศมีความชื้นสูง ซึ่งการป้องกันกำจัดทำได้ยากแม้จะป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี การระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่าก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ส่งผลให้เกษตรกรใช้สารเคมีกันมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้สารเคมีในอัตราที่สูงขึ้น ส่งผลให้เชื้อราไฟทอปธอร่าฯ มีการพัฒนาและดื้อยา
.
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร พบวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน โดยใช้ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันและกำจัดเชื้อราที่เกี่ยวข้องกับโรครากเน่าโคนเน่า ทำให้เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตและทำลายรากพืช
.
นอกจากนี้ยังมีการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีจัดการโรครากเน่าโคนเน่าในแผนการปลูกทุเรียนอินทรีย์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมเป็นการสนับสนุนการปลูกพืชอินทรีย์
.
สำหรับการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีทาเพียงครั้งเดียวก็เห็นผลได้จากรอยแผลเน่าแห้งลง เชื้อไม่ลุกลามและยังสร้างเนื้อไม้เข้าหุ้มรอยแผลอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากวิธีที่เกษตรกรนิยมใช้คือใช้สารเคมีเมทาแลกซิล 25% WP ที่ต้องทาซ้ำทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง ซึ่งคณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่ทดสอบเทคโนโลยีการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าสาเหตุจากเชื้อไฟทอปธอร่าในทุเรียนในเขตพื้นที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี อ.กะปง จ.พังงา อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ผลปรากฏว่าวิธีการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อไฟทอปธอราในทุเรียนเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการและเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว