ชริมพ์บอร์ดเคาะ 2 โครงการ ช่วยเกษตรกรกุ้ง ชงพาณิชย์เชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้งทะเลภายใน ปท. พร้อมดันโครงการอาหารกุ้งทะเลธงเขียว

ชริมพ์บอร์ดเคาะ 2 โครงการ ช่วยเกษตรกรกุ้ง ชงพาณิชย์เชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้งทะเลภายในประเทศ พร้อมดันโครงการอาหารกุ้งทะเลธงเขียวเสนอ คบท. พิจารณาอีกครั้ง 

ณ ห้องประชุมพะยูน ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย นายประพันธ์  ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง และคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ ชริมพ์บอร์ด ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2566 พิจารณาโครงการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล 
         

%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%87 6 1
ชริมพ์บอร์ดเคาะ 2 โครงการ ช่วยเกษตรกรกุ้ง

นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ประธานชริมพ์บอร์ด เปิดเผยว่า จากการที่มีผลผลิตของกุ้งออกมากตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ท่ามกลางความห่วงกังวลในประเด็นราคากุ้งทะเลที่ลดต่ำลง เกษตรกรบางพื้นที่ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งชริมพ์บอร์ดได้ตระหนักถึงข้อห่วงกังวลดังกล่าว จึงได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และได้เห็นชอบให้กรมการค้าภายในจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยเชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้งทะเลภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายดูดซับผลผลิตกุ้งทะเลเพื่อให้มีการบริโภคภายในประเทศปริมาณรวม 5,000 ตัน

นอกจากนี้ ชริมพ์บอร์ดยังคงยืนยันให้มีการเสนอโครงการอาหารกุ้งทะเลธงเขียวเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลสำหรับบริโภคภายในประเทศ ปี 2566 ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนเงินจากกองทุนรวมฯ ในการสนับสนุนเงินค่าอาหารกุ้งทะเล กิโลกรัมละ 2 บาท ให้กับเกษตรกรที่จ้างผลิตโดยใช้เงินทุนของตนเอง
         

จากที่กล่าวมาข้างต้น แม้ว่าชริมพ์บอร์ดจะมีการผลักดันโครงการใหม่ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง แต่อย่างไรก็ตาม โครงการประกันราคากุ้งขาวแวนนาไม (ราคาปากบ่อ) ยังคงดำเนินการไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งขอให้เกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการประกันราคาฯ วางแผนการจับกุ้งร่วมกับห้องเย็นหรือโรงงานแปรรูปผู้รับซื้อ เพื่อส่งตัวอย่างกุ้งตรวจวิเคราะห์สารตกค้างกับกรมประมงได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด 
         

อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า การวางแผนการผลิตเพื่อให้ได้กุ้งตรงตามขนาดที่ตลาดต้องการ และการบริหารจัดการผลผลิตให้เหมาะสมกับฤดูกาลผลิตเพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถลดความเสี่ยงของการประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำได้อย่างยั่งยืน …และขอให้เชื่อมั่นในการดำเนินงานของชริมพ์บอร์ด ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯ ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมกุ้งไทย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง