นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำเสนอ โครงการ “การยกระดับการประเมินความเสี่ยงเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การจัดการทางการเงินเพื่อความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย” (Enhancing Risk Assessment (ERA) for Improved Country Risk Financing Strategies Project)
การประชุมดังกล่าวดำเนินการโดยโครงการ ASEAN-German ซึ่งเป็นการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (The Innovative Climate Risk Financing for the Agricultural Sector in the ASEAN Region) ที่ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ประจำประเทศไทย ร่วมกับ Munich Climate Insurance Initiative of the United Nations University โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในกระบวนการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงทางด้านการเกษตร สามารถนำศาสตร์ทางด้าน วนเกษตร ซึ่งเป็นการนำหลักการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือ Nature-based Solutions (NbS) มาใช้ รวมถึง Agro – forestry ที่มีประโยชน์หลายประการ ตั้งแต่การลดความเสี่ยงและการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศผ่านการกักเก็บคาร์บอนนอกจากนี้ยังสามารถนำศาสตร์พระราชาด้านการเกษตร มาใช้เป็นแนวทางในการลดและประเมินความเสี่ยงได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมีความเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ดี
ทั้งนี้นโยบาย ต่างๆ ต้องสอดรับกับนโยบายสากล โดยเฉพาะข้อผูกพันธ์กับ สหประชาชาติ (UN) อาทิSDGs (Sustainable Development Goals) ความตกลง COP26 ความร่วมมือกับ UNFCCC นอกจากนี้ต้องมีความเชื่อมโยงกับ ยุทศาสตร์ ภายในประเทศทั้งในเรื่อง BCG Model รวมถึงการจัดการทางการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยง และปรับยุทธศาสตร์ให้เป็นวิธีการหรือ Methodology
อนึ่ง อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังกล่าวอีกว่า ในปีนี้กรมวิชาการเกษตรได้รับเลือกให้เป็นประธานASEAN CRN และ ATWGARD โดยกรมวิชาการเกษตร ได้เสนอต่อที่ประชุม ASEAN Climate Resilience Network ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 เรื่องโครงการระดับภูมิภาคเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นความร่วมมือระดับ ASEAN ภายใต้ โครงการ ASEAN Joint Work on GHG Emission Reduction Program on Crops (AGERCrops)
ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มองเห็นความสำคัญและผลักดันการพัฒนา National Carbon Credit Baseline ในพืชนำร่องที่มีปริมาณการส่งออกสูง อาทิ ทุเรียน ผลไม้ มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ร่วมกับ องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และภาคเอกชน รวมถึงการจัดการฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดจากปัญหาการเผาไหม้ทางการเกษตร
การบริหารจัดการทางการเงินที่มียุทธศาสตร์ชัดเจนครบทุกบริบทจึงมีความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย ทั้งในส่วนของการวิจัยทางด้านเกษตรที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ การวิจัยทางด้าน Modern Biotechnology และ Modern Agriculture รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินในเรื่อง ระบบการผลิตอาหาร (Food System) โครงการพัฒนาศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์เขตร้อนระดับโลก(World Tropical Seed Hub) เทคโนโลยีและระบบการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร
ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้ทำงานร่วมกับ GIZ ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่นการส่งเสริมเกษตรยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการประกันภัยพืชผล โดยการทำงานบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานหลายภาคส่วนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
โครงการ ERA ได้สนับสนุนเรื่องการวิเคราะห์และแนะนำมาตรการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สามารถลดความเสี่ยงและช่วยให้ภาคการเกษตรสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าประเทศไทยเผชิญกับภัยความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเช่น การเกิดภัยน้ำท่วมและน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ทรัพย์สินทางการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร และโครงสร้างขั้นพื้นฐาน อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม
“การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ ถือเป็นการประชุมสำคัญที่จะเข้ามาสนับสนุนการจัดทำการประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโดยเน้นในภาคการเกษตรการประเมินความเสี่ยงที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาและปรับยุทธศาสตร์ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการจัดการทางการเงินเพื่อความเสี่ยงให้กับประเทศไทย รวมถึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และร่วมกำหนดกิจกรรมการประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ แนวทางการดำเนินงานร่วมกัน อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว