วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 19.00 น. นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พุทธศักราช 2566 และเทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน ทำพิธีล้างมือพระยาแรกนาและเจิมหน้าพระโค เพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างความคุ้นเคยกับพระโคแรกนา ก่อนการเริ่มพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในเช้าวันรุ่งขึ้นโดยพระโคแรกนาในปีนี้ คือ พระโคพอ และพระโคเพียง พระโคคู่สำรอง คือ พระโคเพิ่ม และพระโคพูลณ โรงพระโคยืน มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
อนึ่ง ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร
โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้ายเขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม
สำหรับ พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง โดยพระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 225 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 11 ปี ส่วนพระโคเพียง มีความสูง169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 238 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 209 เซนติเมตร อายุ 11 ปี พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ซึ่งเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน