อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่จังหวัดนครพนม พบปะเกษตรกรสมาชิกโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ขยายโมเดล 1 ไร่ 1 แสน สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีฯ พบปะเกษตรกร และมอบต้นพันธุ์ไม้ผล ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 และเมล็ดพันธุ์พืชผักของกรมวิชาการเกษตร รวมถึงไม้ใช้สอย ได้แก่ ต้นยางนา และมะกรูด แก่สมาชิกโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ณ สหกรณ์การเกษตร โสกแมว จำกัด ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชนแบบแปลงรวม ให้แก่ผู้ยากไร้ เพื่อลดช่องว่างทางสังคมโดยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตั้งแต่ปี 2558 มีเป้าหมายจัดที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ รวม 3.4 ล้านไร่ โดยจัดหาที่ดินเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินให้ผู้ยากไร้ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพแล้ว
สำหรับจังหวัดนครพนมหนึ่งในพื้นที่ดำเนินการ คือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร (คทช.) บ้านโสกแมว ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงหมู รวม 1,524 ไร่ ปัจจุบันได้ออกหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย และจัดคนลงในพื้นที่พร้อมมอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชนให้กับประชาชนแล้ว 184 ราย 195 แปลง
ดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรโสกแมว จำกัด เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาพัฒนาส่งเสริมอาชีพในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดสร้างมูลค่าในที่ดินทำกิน สร้างรายได้ สร้างสวัสดิการทางสังคม และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้มั่นคง ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
จากนั้นได้พบปะพร้อมกับมอบพันธุ์พืช ให้กับเกษตรกรสมาชิกโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร จำนวน 109 ราย ได้แก่ ต้นพันธุ์ไม้ผลลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 เมล็ดพันธุ์พืชผักของกรมวิชาการเกษตร รวมถึงไม้ใช้สอย ได้แก่ ต้นยางนา และมะกรูด
ในส่วนการดำเนินการของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ได้จัดอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ณ สหกรณ์โสกแมว จำกัด มีผู้เข้าร่วมอบรม 50 ราย มีกิจกรรมดังนี้ 1. กิจกรรม ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 2. กิจกรรม สนับสนุนปัจจัยการผลิต /พันธุ์พืช และ 3. กิจกรรม แปลงต้นแบบการผลิตพืช
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบนโยบาย ขยายผล โครงการ 1 ไร่ 1 แสนในพื้นที่จังหวัดนครพนม และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยนำแนวทางของโครงการ 1 ไร่ 1 แสนของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ มาปรับใช้ เช่น การปลูกลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 ซึ่งเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพในพื้นที่ ในระยะที่ลิ้นจี่ยังไม่ให้ผลผลิต มีการปลูกพืชแซมในสวนลิ้นจี่ เช่น กล้วย ข้าวโพดหวาน และ พืชผักอื่นๆ สำหรับในระยะลิ้นจี่ที่ให้ผลผลิตแล้ว มีการเลี้ยงผึ้งในสวนลิ้นจี่ การขยายพันธุ์ลิ้นจี่เพื่อจำหน่าย สำหรับสวนยางพารา มีการปลูกพืชแซม เช่น ผักหวานป่า ซึ่งเป็นพืชที่ตลาดต้องการ