“กรมการค้าภายใน” ถก 3 กรมจาก “เกษตร” และ 4 สมาคมปุ๋ย ติดตามสถานการณ์การผลิต นำเข้า การจำหน่ายและการใช้ ยืนยันปริมาณมีเพียงพอ สต๊อกสูงถึง 1.36 ล้านตัน มากกว่าปีก่อน 50% และแนวโน้มราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เผยยูเรีย ลงแล้ว 44% แอมโมเนียซัลเฟต ลง 37%
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญ 3 กรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร และ 4 สมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ย ได้แก่ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพไทย มาหารือถึงสถานการณ์การผลิต การนำเข้า การจำหน่าย และการใช้ปุ๋ยเคมี โดยทุกฝ่ายยืนยันตรงกันว่าปุ๋ยเคมีจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนอย่างแน่นอน โดยสต๊อก ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 อยู่ที่ 1.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับสถานการณ์การผลิต และการนำเข้า มีการนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตอย่างต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาการจัดหาวัตถุดิบ ปริมาณการนำเข้ามีมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ซื้อรายสำคัญ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ และปัญหาที่เคยเป็นข้อจำกัดในการนำเข้า อย่างการนำเข้าจากแหล่งผลิตในจีน ก็ไม่มีปัญหา การขนส่งก็ไม่มีปัญหา และการซื้อปุ๋ยจากแหล่งผลิตสำคัญ เช่น รัสเซียและเบลารุส ที่เคยได้รับผลกระทบจากสงคราม ก็ไม่มีปัญหา ทำให้ข้อจำกัดที่เคยเป็นอุปสรรคบรรเทาเบาบางลงไปหมด รวมถึงการขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาตนำเข้า ก็มีการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนสถานการณ์ด้านราคา พบว่า ขณะนี้ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ราคาลดลงแล้วประมาณ 44% เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยไปขึ้นสูงสุด และแอมโมเนียมซัลเฟต ราคาลดลงประมาณ 37% ส่วนปุ๋ยสูตรอื่น ๆ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และสูตร 16-20-0 ก็ปรับลดลงต่อเนื่อง และแนวโน้มคาดว่าจะลดลงได้อีก ตามสถานการณ์วัตถุดิบตลาดโลกที่ลดลง ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรไทย ที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกตั้งแต่เดือนพ.ค.2566 เป็นต้นไป
“ปีนี้ คาดว่า ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีจะเพิ่มขึ้น เพราะผลผลิตทางการเกษตรสำคัญ ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง มีราคาดี แต่ราคาปุ๋ยแนวโน้มลดลง ทำให้การใช้เพิ่มขึ้น และขอยืนยันว่า สินค้าอื่น ๆ แม้จะมีขึ้น มีลง แต่สำหรับปุ๋ยเคมี ตอนนี้ มีแต่ลงกับลง ถ้าเกิดใครพบเห็นการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา หรือเอารัดเอาเปรียบ ให้แจ้งสายด่วน 1569 กรมฯ จะเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการทันที และผู้กระทำผิด จะมีโทษหนัก จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ”ร.ต.จักรากล่าว
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เดินหน้าโครงการ “จับคู่ปุ๋ย ซื้อตรง ถูกเงิน ถูกใจ” เพื่อให้มีการสั่งซื้อปุ๋ยกันโดยตรงจากโรงงานในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด โดยส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจขุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ หรือกลุ่มอื่น ๆ รวมตัวกันสั่งซื้อปุ๋ยตรงจากโรงงาน ซึ่งเป็นช่องทางที่จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรได้เข้าถึงปุ๋ยในราคาที่ประหยัดขึ้น