วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2566 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องเกษตรกร ชาวนา กลุ่มผู้ผลิตข้าว และศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศ โดยมีนายจารึกกมลอินทร์ ประธานกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ พร้อมด้วยประธานศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดต่างๆ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่อยู่ในพื้นที่และต่างจังหวัดเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วยณ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม ต.บ้านท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา
อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่าศูนย์ข้าวชุมชน มีเป้าหมายในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพที่ชัดเจนโดยมีแนวทางการพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศว่า อยากให้เกษตรกรทั่วประเทศรวมกลุ่มกัน แล้วจัดตั้งเป็นกลุ่ม หรือวิสาหกิจชุมชน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องข้าวเท่านั้น แต่แนวทางการรวมกลุ่มยังใช้ได้กับการทำเกษตรด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดการต่อรองด้านราคากับนายทุน หรือพ่อค้า และเมื่อมีการรวมตัวกันได้ จะป้องกันการเอาเปรียบด้านราคาและการตลาด และเมื่อเข้มแข็งมากพอ ก็สามารถกำหนดราคาขายเองได้ส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อธิบดีกล่าวต่อไปว่า อยากให้ชาวนาหันมาปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน หรือ BCG MODEL ที่เป็นการทำนาแบบประณีต เลิกใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ยาฆ่าแมลง ทำให้ได้ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมแนะนำให้ใช้จุลินทรีย์และสาหร่ายแกมเขียวมาผสมผสานในการเพาะปลูกอีกทั้งนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมาถ่ายทอดให้กับชาวนา ซึ่งการทำนาแบบเปียกสลับแห้งนั้นจะช่วยลดก๊าซมีเทนในดินที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ที่เป็นการตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อน เน้นย้ำการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสร้างคาร์บอนเครดิตให้ชาวนานำไปสร้างรายได้เสริม
สำหรับกรมการข้าว ได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องเครื่องจักร เช่น เครื่องอบข้าว ที่ทำให้ทางศูนย์ข้าวฯ มีศักยภาพในการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เป็นอย่างดี ช่วยลดภาระในการตากข้าว ที่เกษตรกรบางรายไม่มีพื้นที่ และบางครั้งก็เกิดความเสียหายจากฝนตก ทำให้ข้าวชื้น ไม่แห้ง เมื่อมีเครื่องอบข้าว ทำให้ลดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้ เราจึงต้องเร่งเข้ามาสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ไม่อยากให้เกษตรกรใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่ภาครัฐต้องช่วยเหลือประคองตลอดทำให้เกษตรกรไม่แข็งแรงสักที แต่ถ้าให้เครื่องไม้เครื่องมือหรือสิ่งที่ศูนย์ข้าวชุมชนไม่มี เช่น ยุ้งฉาง หรือ ไซโลเก็บข้าว กลุ่มสมาชิกก็นำข้าวมาฝากกับทางศูนย์ฯ ก็จะช่วยสร้างรายได้เสริมขึ้นมา และเป็นการสร้างความยั่งยืนมากกว่า “เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน เราจะไม่ทิ้งกันแน่นอน” อธิบดีกรมการข้าวกล่าว