นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านส่งเสริมการผลิต กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลาง สามารถปลูกลิ้นจี่พันธุ์ที่ไม่ต้องการความหนาวเย็นที่ยาวนานก็สามารถชักนำให้ออกดอกได้ เช่น พันธุ์ค่อม กะโหลกใบยาว สำเภาแก้ว กระโถนท้องพระโรงเขียวหวาน สาแหรกทอง จีน ไทยธรรมดา ไทยใหญ่ เป็นต้น
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่มีช่วงที่อากาศเย็นที่เพียงพอ ลิ้นจี่จึงไม่มีการออกดอก หรือถึงแม้จะออกดอกแต่ไม่มีการติดผล หรือมีการติดผลเพียงเล็กน้อย เกษตรกรจึงขาดรายได้ ทว่าในช่วงปลายปี 2565 ลากยาวมาจนถึงต้นปี 2566 ประเทศไทยมีสภาพอากาศเย็นปกคลุมติดต่อกัน เพียงพอต่อการทำให้ลิ้นจี่เกิดการแทงช่อดอก และคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมนี้ จะมีผลผลิตลิ้นจี่ออกสู่ตลาดกว่า5,000 ตัน ให้ประชาชนได้รับประทานกันแน่นอน
ลิ้นจี่ค่อม เป็นสายพันธุ์ที่เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงครามนิยมปลูกมากที่สุด ทั้ง 3 อำเภอ คือ อำเภออัมพวา อำเภอบางคนที และอำเภอเมืองสมุทรสงคราม มีเกษตรกรผู้ปลูก 1,954 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกรวม5,160 ไร่
โดยลิ้นจี่ค่อมจัดว่าเป็นผลไม้ที่ปลูกเพื่อการค้า และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีลักษณะเด่นคือ “หนามตั้ง หนังตึง เนื้อเต่ง ร่องชาด” มีพุ่มเตี้ย ใบขนาดเล็ก ปลายเรียวแหลมขอบใบพริ้วผลใหญ่ค่อนข้างกลม เปลือกสีแดงเข้ม หนามห่างสั้น เนื้อหนาแห้ง รสหวานหอม ซึ่งจะแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรทุกอำเภอ ในจังหวัดสมุทรสงคราม เข้าให้คำแนะนำ ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลิ้นจี่จะเป็นผลสุกพร้อมตัดส่งตลาด และกำชับในเรื่องการลงสำรวจ ตรวจสอบ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อป้องกันการแอบอ้างลิ้นจี่จากพื้นที่อื่น หลอกลวงผู้บริโภคเป็นลิ้นจี่สมุทรสงคราม และจะสร้างความเสียหายต่อภาพรวม และความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคได้