เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2506 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมติเลือกให้ ‘ช้างเผือก’ เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ เนื่องจากเป็นสัตว์ป่ามีประวัติเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และประเพณีของไทย
35 ปีต่อมา(ในปี พ.ศ.2541) คณะรัฐมนตรีได้มีมติประกาศให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันช้างไทยตามที่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอ เพื่อให้คนไทยและเยาวชนรุ่นหลังได้ร่วมกันรำลึกและตระหนักถึงความสำคัญของช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย และพร้อมใจกันอนุรักษ์ช้างไทยให้คงอยู่คู่ชาติตลอดไป
ขณะที่ ‘ช้างป่า’ ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในไทย ปัจจุบันมีประมาณ 3,168-3,440 ตัว อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม พบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200-300 ตัว
ส่วนป่าที่มีประชากรช้างป่ามาก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าตะวันออก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน
โดยประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น
ส่วนจำนวนช้างบ้านในไทย มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี พ.ศ.2500 มีช้างภายในประเทศราว12,500 เชือก แต่ในปัจจุบันปี พ.ศ.2565 ช้างในประเทศไทย เหลือเพียง 3,800 เชือก
จำนวนช้างลดลงกว่า 70% ตลอดในช่วง 65 ปี หรือปริมาณช้างหายไปเท่ากับหนึ่งช่วงอายุขัย
ในจำนวนช้างกว่า 3,800 เชือก แบ่งเป็นช้างภายใต้ความดูแลของชาวบ้าน ควาญช้าง และเอกชน (ปางช้าง) ประมาณ 3,200 เชือก
ขณะที่ช้างในความดูแลของภาครัฐ มีประมาณ 100 เชือก ไม่ว่าจะเป็นช้างในองค์การส่วนสัตว์ บางส่วนเป็นช้างขององค์กรหรือมูลนิธิ
และปัจจุบันมีช้างเลี้ยงเพียง 200-300 เชือก ที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและมีการการันตีรายได้ให้ควาญช้าง