วันที่ 12 มีนาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายพิทวัฒน์อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 ลงพื้นที่สวนทุเรียนของนายบุญจง บุญวาที หมู่ที่ 4 ตำบลหลวงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราด ร่วมกิจกรรมตรวจก่อนตัดทุเรียน เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน จึงมีทุเรียนพันธุ์เบาและทุเรียนที่บังคับสารออกดอกสามารถเก็บเกี่ยวได้ ได้แก่ พันธุ์กระดุมพันธุ์พวงมณี และหมอนทองบางส่วน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผลผลิตทุเรียนจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนเมษายน โดยจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ได้มีประกาศเรื่องวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนในแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้ พันธุ์กระดุม และพันธุ์พวงมณี วันที่ 10 มีนาคม 2566 พันธุ์ชะนี วันที่ 20 มีนาคม 2566 พันธุ์หมอนทอง วันที่15 เมษายน2566 หากจะตัดทุเรียนก่อนกำหนดวันเก็บเกี่ยว เกษตรกรต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือจุดที่กำหนด สำหรับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องแจ้งด่านตรวจพืช หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เข้าตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก
นอกจากนี้ ยังมีประกาศ เรื่องกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องทุเรียน (มกษ 3-2556) กำหนดให้ พันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27% พันธุ์พวงมณี และพันธุ์ชะนีไม่น้อยกว่า 30% พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32% หากเกษตรกร พ่อค้าคนกลาง มือตัด พ่อค้าปลีก และโรงคัดบรรจุ จำหน่ายทุเรียนที่มีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าที่กำหนด จะมีความผิดตามกฎหมาย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เดินทางไปโรงคัดบรรจุทุเรียน โกศล-ตู่ เลขที่ 9 หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งนนทรี อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ติดตามภารกิจการตรวจคุณภาพ (อ่อน-แก่) ทุเรียนในโรงคัดบรรจุ เพื่อตรวจสอบคุณภาพทุเรียน ในการควบคุมคุณภาพทุเรียน ณ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) และสั่งการให้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จัดตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุ โดยก่อนกำหนดวันประกาศเก็บเกี่ยวทุเรียนจะดำเนินการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนทุกตู้คอนเทนเนอร์ส่งออก และหลังประกาศวันเก็บเกี่ยว จะทำการแบ่งเกรดสี โรงคัดบรรจุตามข้อมูลผลการตรวจก่อนวันประกาศเก็บเกี่ยว (สีเขียว สีเหลือง สีแดง) และใช้วิธีสุ่มตรวจ โดยจะตรวจเข้มข้นในกลุ่มโรงคัดบรรจุสีแดงและสีเหลือง
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เน้นย้ำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแล การนำเข้าและส่งออกผัก ผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนส่งออก หากพบส่งทุเรียนด้อยคุณภาพจะไม่อนุญาตให้ส่งออกอย่างเด็ดขาด ตามนโยบายของ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ คุณภาพผักและผลไม้ไทย (คำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่2035/2565 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2565) มีหน้าที่และอำนาจ ในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพผักและผลไม้เพื่อการนำเข้าและส่งออกให้เป็นไปตาม หลักมาตรฐาน ตลอดจนมีอำนาจในการ สั่งพักใช้ เพิกถอน ใบรับรอง (GAP) หรือระงับ ยกเลิก หนังสือแสดงการขึ้นทะเบียน (DOA) แล้วแต่กรณี เมื่อตรวจพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร และกฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง