วันที่ 6 มีนาคม 2566 นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ลงพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ลงพื้นที่นำเยี่ยมชมพื้นที่ปลูกข้าว “แปลงนาทดสอบจุลินทรีย์” โดยมี นายสานิตย์ จิตต์นุพงศ์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว นางสาวชวนชม ดีรัศมี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก นายสุนทร โนราช ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก นาย สันติ ไชยา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกำแพงเพชร กำนันสวน เจริญสุขรุ่งเรือง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนเขต 7 พร้อมด้วยนายพะเยาว์ ชื่นกลิ่น ชาวนาอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และเจ้าหน้าที่กรมการข้าวร่วมให้การต้อนรับ ณ แปลงนาทดสอบจุลินทรีย์ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
นายณัฎฐกิตติ์ กล่าวว่า โครงการข้าวรักษ์โลกนั้น เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวปลอดภัยลดการใช้สารเคมี เป็นการส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ ในรูปแบบเศรษฐกิจ BCG คือ ใช้ตลาดนำการเพาะปลูก โดยสำหรับพื้นที่บางระกำโมเดล จ.พิษณุโลกนั้น ได้มีการปลูกข้าวโดยใช้หลักBCG MODEL มาใช้ ซึ่งกรมการข้าวได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้จุลินทรีย์ ในการปลูกข้าว ที่จะเข้ามาช่วยในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า การปลูกข้าวตามโครงการข้าวรักษ์โลก จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งและประสิทธิภาพในการผลิตข้าวให้กับชาวนา โดยแนะนำให้กลุ่มชาวนาหันมาทำนาประณีต ด้วยวิธีการปักดำ หรือเครื่องปักดำ จะได้ผลผลิตที่ดีกว่าการทำนาหว่าน พร้อมจัดการระบบชลประทาน (zoning) เพื่อรองรับการส่งน้ำในการทำนา ด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง
อีกทั้งยังแนะนำให้นำสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ซึ่งเป็นสาหร่ายที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้เหมือนแบคทีเรีย ทำให้เพิ่มปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าว เสริมจุลินทรีย์ในนาข้าวมาใช้ และยังมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี สร้างศรีภิรมย์โมเดล (ต้นแบบ) จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนั้นในอนาคตข้างหน้าจะขยายผลโครงการข้าวรักษ์โลก ให้กว้างขวางในจังหวัดพิษณุโลกต่อไป
นายพะเยาว์ ชื่นกลิ่น ชาวนาอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า การทำนาปลูกข้าวแบบเกษตรปลอดภัย โดยยึดหลัก BCG MODEL นั้น สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวให้สูงขึ้น อีกทั้งยังได้ข้าวที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี โดยกรมการข้าวได้เข้ามาส่งเสริมในการปลูกข้าวปลอดภัยด้วยกันนำจุลินทรีย์และสาหร่ายแกมเขียวมาผสมผสานในการเพาะปลูก
โดยภายในแปลงข้าวดังกล่าวได้มีการทดลองปลูกข้าวพันธุ์ กข 95 ซึ่งภายหลังการเก็บเกี่ยวพบว่าได้ผลผลิตเฉลี่ย 1 ไร่ ผลิตได้กว่า 1,000 กิโลกรัม หรือกว่า 1 ตัน และจากการเพาะปลูกจำนวน 14 ไร่ พบว่าได้ผลผลิตถึง 16,180 กิโลกรัม