“มนัญญา”ปลื้ม กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น จัดทำโครงการจัดการสารเคมีในผักและผลไม้เพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น (Control-Measures)ผ่านการรับรองล่วงหน้า(Pre – Certification) ยกเลิกการกักกันตรวจที่ด่านนำเข้า สินค้าสามารถผ่านด่านตรวจไปยังแหล่งจำหน่ายได้ทันที
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้รับมอบนโยบายจาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนการส่งออก(ทางอากาศ)ไปยังประเทศปลายทาง” ซี่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงคมนาคม ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการส่งออกสินค้าพืชไปยังประเทศปลายทาง สินค้าเกษตรมีความสดใหม่ และ มีคุณภาพที่ดี ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะช่วยลดการกักตรวจที่ด่านของประเทศคู่ค้า
กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำโครงการจัดการสารเคมีในผักและผลไม้เพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น(Control measures) เพื่อขอยกเลิกการกักกันตรวจสารตกค้างที่ด่านนำเข้าประเทศญี่ปุ่น โดยเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น (MHLW) เป็นลักษณะการ Pre-certification และเป็นมาตรการสมัครใจไม่ได้เป็นข้อบังคับ โดย MHLW พิจารณาอนุมติเห็นชอบโครงการ Control measures
ประเทศญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญ และมีความเข้มงวดในการนำเข้าผักและผลไม้สดจากต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย Food Sanitation Law ที่มีข้อกำหนดในการห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีสารพิษหรือสารอันตรายต่อผู้บริโภค ผักและผลไม้สดที่นำเข้าจากต่างประเทศจะต้องทดสอบสารเคมีตกค้าง และ ผลการทดสอบต้องเป็นไปตามระบบ Positive list
ซึ่งในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เป็นประธานพิธีเปิดประชุมคณะเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น เพื่อเตรียมตรวจประเมินโครงการฯ ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงาน ได้จัดเจ้าหน้าที่ในการตรวจประเมินร่วมกัน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2566 ในมะม่วง กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ อ. สากเหล็ก จ.พิจิตร และ กระเจี้ยบเขียว ในแปลงเกษตรกร จังหวัด นครปฐม ตามมาตรการการกักตรวจสารเคมีตกค้างทางการเกษตร เพื่ออำนวยความสะดวก ในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เชิญชวน กลุ่มเกษตรกรต่างๆ กลุ่มสมาชิกสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ในพื้นที่ปลูกมะม่วง อำเภอ เนินมะปรางค์ วังทอง และ วัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก และกลุ่มเกษตรกร ที่ปลูกกระเจี้ยบเขียวแหล่งอื่นของประเทศ เข้าร่วมโครงการฯ ให้เกิดการขยายตลาดเพิ่มส่งออกมะม่วง และ กระเจี้ยบเขียวในปริมาณที่มากขึ้น
เงื่อนไขของโครงการ Control measures เป็นมาตรการสมัครใจ ไม่บังคับ หากเข้าร่วมต้องปฏิบัติตามเงื่อนไจที่กำหนด โครงการดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินการของ 3 ภาคส่วน ดังนี้
กรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับ ดูแล ผู้ส่งออกและเกษตรกรเครือข่ายให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ ประกอบด้วย การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ส่งออกและเกษตรกรเครือข่ายเพื่อเสนอรายชื่อต่อ กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น
ผู้ประกอบการส่งออก มีหน้าที่ในการควบคุม ดูแล เกษตรกรเครือข่ายโดยเฉพาะการใช้สารเคมีของเกษตรกรให้เป็นไปตามมาตรฐานค่า Positive list และจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ของประเทศญี่ปุ่น ผลผลิตที่ส่งออกต้องมาจากเกษตรกรเครือข่ายเท่านั้น
เกษตรกรเครือข่าย มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามหลักการการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร(GAP) รวมถึงการใช้สารเคมีตามคำแนะนำของผู้ส่งออกซึ่งสองคล้องกับมาตรฐานที่ประเทศญี่ปุ่นกำหนด
ประโยชน์ที่ผู้ส่งออกในโครงการ Control Measures จะได้รับ คือ การยกเว้นการกักตรวจที่ด่านนำเข้าประเทศญี่ปุ่นตามมาตรการ Order inspection และ ลดค่าตรวจวิเคราะห์ที่ด่านนำเข้าประเทศญี่ปุ่น โดยสินค้าสามารถผ่านด่านตรวจไปยังแหล่งจำหน่ายได้ทันที
ปัจจุบันมีผู้ส่งออกที่อยู่ภายใต้โครงการดังนี้ มะม่วง และมะม่วงฟรีซดราย 18 ราย คิดเป็นปริมาณ 17,080 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,309 ล้านบาท มังคุด 10 ราย คิดเป็นปริมาณ 1,084 ตัน มูลค่า 108. 43 ล้านบาทกล้วย 6 ราย คิดเป็นปริมาณ 3,490.8 ตัน มูลค่า 110.52 ล้านบาท หน่อไม้ฝรั่ง 6 ราย คิดเป็นปริมาณ 854 ตัน มูลค่า 68.32 ล้านบาท กระเจี้ยบเขียว 11 ราย คิดเป็นปริมาณ 14,401.5 ตัน มูลค่า 792.1 ล้านบาท
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการจัดการสารเคมีในผักและผลไม้เพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า การส่งออกภายใต้โครงการฯ จะช่วยลดมูลค่าที่สูญเสียจากการต่อรองของผู้นำเข้าและการกักตรวจที่ด่านของประเทศญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าประมาณ 1,200-1,400 ล้านบาทต่อปี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยในตลาดส่งออกประเทศญี่ปุ่น และส่งผลต่อเนื่องไปยังเกษตรกรเครือข่ายให้มีอาชีพและรายได้มั่นคงยิ่งขึ้น