มท.ร่วมหารือสยามคูโบต้า มุ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยมิติด้านการเกษตร

ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะ ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารและผู้แทนบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นำโดยคุณวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส คุณพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ คุณรัชกฤต สงวนชีวิน Business Value Creation Division Manager และคณะ เพื่อหารือแนวทางการร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยและบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ในการพัฒนาชุมชนด้วยการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความอยู่ดีกินดีของเกษตรกรประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน

331336557 1288252791758085 7041846195708553186 n 1
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทยมีความยินดีที่ได้ร่วมหารือและได้ให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร และผู้แทนจากบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งถือเป็นภาคีเครือข่ายภาคเอกชนของกระทรวงมหาดไทย เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมเกษตรกรไทย ส่งเสริมชุมชนและสังคมไทยสู่ความยั่งยืนด้วยมิติด้านการเกษตรที่เป็นรากฐานการพัฒนาที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พัฒนาหมู่บ้านและชุมชนไปสู่ความยั่งยืนโดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อันเป็นพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์

331292298 572283491617009 2602175235311481880 n
มท.หารือสยามคูโบต้าร่วมพัฒนาชุมชนด้วยการเกษตร

รวมทั้งหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ผนวกเข้ากับกลไก 3 5 7 อันประกอบด้วย 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชุมชน/หมู่บ้าน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ 5 กลไก ได้แก่ การประสานงานภาคีเครือข่าย การบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์ การติดตามหนุนเสริมและประเมินผล การจัดการความรู้ และการสื่อสารสังคม 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน อย่างประสิทธิภาพ 

ดังนั้น การหารือกันในวันนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะเป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยในฐานะภาครัฐ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

วราภรณ์ โอสถาพันธ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บจก.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ขอขอบคุณปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ให้เกียรติและให้โอกาสกับทาง บจก.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ในวันนี้ ซึ่งจะได้หารือและแลกเปลี่ยนผลสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการด้านการพัฒนาชุมชนและสังคมของบริษัทฯ จำนวน 3 โครงการที่เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อเกษตรกร ได้แก่

1) โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า โดยสยามคูโบต้าได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ส่งเสริมกิจกรรมด้านการเกษตรผ่านกระบวนการเรียนรู้และโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกษตรกรในชุมชนมีความอยู่ดีกินดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ ท้ายที่สุดสามารถพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบและขยายผลสู่ชุมชนอื่นต่อไป

2) โครงการคูโบต้าร่วมมือเกษตรร่วมใจ เพื่อส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตรให้เข้าถึงชุมชน ยกระดับรายได้ของเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน 

และ 3) โครงการชุมชนเพาะสุขสยามคูโบต้า ที่ได้มีการดำเนินการในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สามารถช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทฯ จะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขอรับทราบข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะเป็นประโยชน์ในการร่วมกันดำเนินงานในอนาคตต่อไป

พิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้านั้น เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มุ่งสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 1,405 คน จากวิสาหกิจชุมชนจำนวน 7 กลุ่ม ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดชัยนาท จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดศรีสะเกษ และโครงการคูโบต้าร่วมมือเกษตรร่วมใจ เป็นโครงการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการเครื่องจักรแบบรวมกลุ่ม โดยจะส่งมอบเครื่องจักรให้วิสาหกิจชุมชนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ลงทุนแต่บุคลากรมีศักยภาพ นอกจากนี้จะมีการเสริมความรู้การใช้งานการดูแลรักษาการบริหารจัดการเครื่องจักรและการสร้างแบรนด์ ซึ่งโครงการนี้ ได้ช่วยเพิ่มรายได้หรือลดต้นทุนเฉลี่ย 10% ต่อปีให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเกษตรกรในโครงการจำนวน 13,244 คน จากวิสาหกิจชุมชนจำนวน 168 กลุ่ม ใน 59 จังหวัด

รัชกฤต สงวนชีวิน Business Value Creation Division Manager กล่าวเสริมว่า สำหรับโครงการชุมชนเพาะสุขสยามคูโบต้า เป็นโครงการเพื่อการพัฒนาชุมชนนำไปสู่ความอยู่ดีกินดี ที่มีปัจจัยสำคัญสำหรับการดำเนินการ 3ประการ ได้แก่ การต่อยอด การถ่ายทอด และสร้างความยั่งยืน โดยจะเลือกองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละชุมชนมาพัฒนาชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ผ่านรูปแบบการรวมกลุ่มทำการเกษตรและแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน การพัฒนาบุคลากรและชุมชนผ่านองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ และการสร้างเครือข่ายขายต่อยอดความยั่งยืนผ่านสถาบันเกษตรกรที่เข้มแข็ง ที่พร้อมประยุกต์เอาแนวทางด้านการเกษตรต่าง ๆ มาเป็นส่วนผสมด้วย เช่น โคก หนอง นา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น และจะเน้นให้มีปัจจัยเสริมด้านอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น การสร้างการท่องเที่ยวเชิงชุมชน หัตถกรรมพื้นบ้าน ปศุสัตว์ ปัจจุบันมีการดำเนินโครงการใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดน่าน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้มีการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและสังคมไทย ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนของการต่อยอดขยายผลการดำเนินโครงการของบริษัทฯ หรือความร่วมมือระหว่างกันในการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป กระทรวงมหาดไทยในฐานะส่วนราชการที่มีองคาพยพและภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมร่วมสนับสนุนตามอำนาจหน้าที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ และพร้อมสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อนำมาร่วมกันวิเคราะห์ วางแผน ที่จะเป็นการสนับสนุนการทำงานระหว่างกัน โดยมีกรมการพัฒนาชุมชนและกรมการปกครอง เป็นกลไกหลักในระดับพื้นที่ ทั้งมิติที่เป็นอุปสรรคและโอกาสสำหรับการพัฒนาตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน หมู่บ้าน และตำบล ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ในการร่วมกันดำเนินงานในระยะต่อไป

นอกจากนี้ การส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะการลดการเผาไร่นา สวนอ้อยหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ การส่งเสริมไถกลบตอซังข้าวและการอัดฟางก้อน ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นการดำเนินกิจกรรมที่สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการลดการเผาได้ในหลายพื้นที่ แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีเกษตรกรที่ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการมุ่งเน้นมิติของการทำเกษตรที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย