ฝนหลวงฯ ส่งเฮลิคอปเตอร์ทิ้งน้ำดับไฟป่าบริเวณ จ.เชียงใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหา หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) พื้นที่ภาคเหนือ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรรักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือได้ทำการส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วให้นำเฮลิคอปเตอร์ตักน้ำดับไฟป่า เนื่องจากค่าคุณภาพอากาศของประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จากการเกิดไฟป่าในพื้นที่ และเนื่องจากปัญหาไฟป่าเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานหลายวัน ทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้นประกอบกับข้อมูลสถานการณ์ค่าคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่ามีสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐาน ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5ตรวจพบค่าระหว่าง 19 – 165 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM10 ตรวจพบค่าระหว่าง 18 – 191 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน ซึ่งอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ถึงระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเป็นวงกว้าง
จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการประสานงานและวางแผนร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จ.เชียงใหม่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกอ.รมน. ภาค 3 ขึ้นบินสำรวจจุดความร้อนเพื่อวางแผนการบิน และหาแหล่งน้ำที่ใกล้กับบริเวณที่เกิดไฟป่า เพื่อรักษาปริมาณน้ำในถังให้ได้มากที่สุดโดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จ.เชียงใหม่ ใช้เฮลิคอปเตอร์แบบ Bell 407 จำนวน 1 ลำปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ อ.ฮอด และ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 9 – 11 กุมภาพันธ์ 2566ที่ผ่านมา ใช้แหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำศาลาฮ่อ และอ่างเก็บน้ำบ้านโป่ง มีผลการปฏิบัติภารกิจจำนวน 3 วันรวมจำนวน 37 เที่ยวบิน ใช้ปริมาณน้ำ รวมทั้งสิ้น 22,200 ลิตร
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ และเฝ้าติดตามสถานการณ์ไฟป่า รวมถึงเร่งทำฝนเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ทั้งนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน งดการเผาทุกประเภท เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศจากหมอกควันและฝุ่นละออง รวมถึงสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากที่อยู่อาศัยและสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือเรื่องทำฝนหลวง หรือประสานแจ้งข้อมูลได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิกฤติไฟป่าและหมอกควันพิษ ในภาคเหนือยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน และยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ยังคงไม่มีทางออก โดยจะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูร้อน ความถี่ในการเกิดไฟป่าทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และคนทำคิดเป็นกว่า 73% ของการเกิดไฟป่าทั้งประเทศ
หมอกควันที่เกิดจากไฟป่า เกิดจากการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้เกิด ควันไฟ ฝุ่นละออง หมอก ขี้เถ้า และแก๊สพิษต่าง ๆ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และ ก๊าซโอโซน (O3) เป็นต้น โดยมลพิษพวกนี้จะปนเปื้อนอยู่กับอนุภาคหมอกควัน ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่ที่อากาศแห้ง นิ่ง ไม่มีลมพัด จะเสี่ยงที่จะได้รับสารมลพิษมากกว่าพื้นทื่อื่น ๆ เพราะฝุ่นละอองเหล่านี้ สามารถแขวนลอยในอากาศได้นานมาก ๆ ยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งแขวนลอยได้นานเป็นปี