13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก สัญลักษณ์แห่งรักแท้

เพจสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand ได้โพสต์ข้อความ ว่า

13 กุมภาพันธ์ “วันรักนกเงือก”

ทางมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน และทำให้เห็นคุณค่าของงานอนุรักษ์นกเงือก

.

329970111 1684817345309081 562736739595503065 n

“นกเงือก” มีพฤติกรรมบินหาอาหารไปทั่ว จะเลือกกินสัตว์ขนาดเล็กและผลไม้สุกทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยจะกินผลไม้เข้าไปทั้งผลแล้วขย้อนเมล็ดออกมา จึงถือเป็นการกระจายเมล็ดพันธุ์ให้สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้แม้ในพื้นที่ป่าสูง ๆ ที่คนเรายากจะปีนป่าย ถือเป็นกลไกสำคัญตามกระบวนการทางธรรมชาติในการขยายพันธุ์พืชและสร้างความหลากหลายให้กับป่าใหญ่ การมีอยู่ของนกเงือกจึงสามารถใช้เป็นดัชนีวัดระดับความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้

.

bird 356655 960 720
นกเงือก

นกเงือกยังถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์ของรักแท้เพราะนกเงือกจะจับคู่เพื่อผสมพันธุ์เพียงแค่ตัวเดียว (monogamous) ในหนึ่งช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น พ่อและแม่นกเงือกจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดถึงครึ่งปีเพื่อช่วยดูแลลูกนกเงือกให้ออกมาใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์และแข็งแรงพร้อมที่จะดูแลชีวิตของตัวเองได้ ดังนั้น การล่าพ่อนกหนึ่งตัว นั่นหมายถึงการฆ่ายกครัว เพราะแม่และลูกที่ยังไม่ฟักออกมาจากไข่หรือมีอายุยังน้อยจะไม่สามารถหาอาหารกินเองได้

แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันขบวนการลักลอบค้านกเงือกนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทั้งการ“ลัก” ลูกนกเงือกออกจากรัง การล่าหัวนกเงือกเพื่อนำไปทำเป็นเครื่องประดับ รวมถึงการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าตามธรรมชาติส่งผลให้เกิด ภาวะการขาดแคลนโพรง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบต่ออาหารของนก ทำให้ประชากรของนกเงือกลดลงอย่างน่าใจหาย

สำหรับสถานการณ์นกเงือกในปัจจุบัน งานด้านอนุรักษ์จึงไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบของเฉพาะบุคคล หรือเฉพาะองค์กร แต่เป็นเรื่องของเราทุก ๆ คน ที่ต้องร่วมมือช่วยกันอนุรักษ์นกเงือกให้สามารถอยู่คู่กับผืนป่าไทย และยังคงสร้างความหลากหลายให้กับระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน

เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ที่มีความสวยงาม ทั้งยังให้ประโยชน์ต่อป่าไม้เพราะนกเงือกถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อระบบนิเวศ เพราะมันสามารถปลูกป่าโดยการกินผลไม้และนำเมล็ดที่มันกินไปทิ้งไว้ตามพื้นที่ที่มันไป

แต่นกเงือกก็ยังถือได้ว่าถูกคุกคามเป็นอย่างมาก เพราะยังมีการล่าเอาหัวและโหนกของมันไปแปรรูปเป็นเครื่องประดับและของขลัง แล้วขายต่อให้คนสั่งซื้อทั้งในไทยและทางประเทศ

ทางมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งศึกษาวิจัยนกเงือกมานานกว่า 20 ปี จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันรักนกเงือก” เพื่อเป็นการรณรงค์และสร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการอนุรักษ์นกเงือกอย่างจริงจัง

ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทยมีทั้ง หมด 13 ชนิด จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ได้แก่

นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง Great Hornbill, Buceros bicornis

นกเงือกหัวแรด Rhinoceros Hornbill, Buceros rhinoceros

นกเงือกหัวหงอก White-crowned Hornbill, Berenicornis comatus

นกชนหิน Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil

นกแก๊ก หรือ นกแกง Oriental Pied Hornbill, Anthracoceros albirostris

นกเงือกดำ Black Hornbill, Anthracoceros malayanus

นกเงือกคอแดง Rufous-necked Hornbill, Aceros nipalensis

นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว Austen’s Brown Hornbill, Anorrhinus austeni

นกเงือกสีน้ำตาล Tickell’s Brown Hornbill, Anorrhinus tickelli

นกเงือกปากดำ Bushy-crested Hornbill Anorrhinus galeritus

นกเงือกปากย่น Wrinkled Hornbill, Aceros corrugatus

นกเงือกกรามช้าง หรือนกกู่กี๋ Wreathed Hornbill, Rhyticeros undulatus

นกเงือกกรามช้างปากเรียบ Plain-pouched Hornbill, Rhyticeros subruficollis

ถ้าพูดถึงเรื่องความรัก นกเงือก จัดได้ว่าเป็นสัตว์ที่เทิดทูนต่อความรักอย่างมาก หรือที่คนทั่วไปเขาเรียกกันว่ารักเดียวใจเดียวนั้นเอง นอกจากนั้นมันยังให้ความสำคัญต่อการดูแลลูก ๆ ของพวกตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมรังวางไข่ ไปจนถึงฟักไข่ แล้วพ่อแม่นกจะสอนการใช้ชีวิตและการเอาตัวรอดจากศัตรูให้ลูก ๆ ของมันเพื่อให้มีชีวิตรอดจนสามารถไปสร้างครอบครัวของตัวเองได้ต่อ

ก่อนจะไปรักใครหรือถ้ายังไม่มีใครให้รัก ลองหันกลับมารักนกเงือกดูสักครั้งแล้วคุณจะเห็นความรักที่สวยงามอย่างแท้จริง