นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เกษตรผสมผสานเป็นระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมแต่ละชนิดเกื้อกูลกันอย่างเป็นวงจร มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาอย่างเหมาะสมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากตัวอย่างของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จังหวัดนครสวรรค์ คือ นายฐิติโชค คำไทย เกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการทำเกษตรผสมผสาน และได้พัฒนาพื้นที่ของตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ มีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั้งในและนอกพื้นที่เข้าศึกษาดูงานกว่าปีละ 800 คน
จากการลงพื้นที่ของ สศท.12 โดยสัมภาษณ์ นายฐิติโชค คำไทย เศรษฐกิจการเกษตรอาสา ตำบลวังเมือง อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ผู้ได้รับโล่รางวัล “เศรษฐกิจการเกษตรอาสาดีเด่น ประจำปี 2565” และเป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้อันเนื่องมาจากพระราชดำริต้นแบบ ประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อถอดบทเรียน องค์ความรู้ และเผยแพร่เป็นแนวทางแก่เกษตรกร และบุคคลที่สนใจ โดยนายฐิติโชค บอกเล่าว่า ตนมีที่ดินทั้งหมด 31 ไร่ ทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว แต่ประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วง และปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำ ทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่ได้ขนาดและปริมาณตามต้องการ จึงใช้สารเคมีบำรุง ทำให้สภาพดินเสื่อม และต้องเพิ่มปริมาณสารเคมีมากขึ้นเพื่อแก้ไข ต้นทุนการผลิตจึงสูงขึ้น รายได้ลดลง ประกอบกับไม่มีรายได้ในช่วงนอกฤดูการเพาะปลูก จึงได้ศึกษาและเข้าร่วมการอบรมจากหน่วยงานต่างๆ และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ตั้งแต่ปี 2547 และเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการทำเกษตร
ปัจจุบันการทำเกษตรแบบผสมผสานของนายฐิติโชค ได้จัดสรรพื้นที่ จำนวน 31 ไร่ แบ่งออกเป็น นาข้าวปลอดสารพิษ จำนวน 5 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข 23 พืชผักสวนครัว จำนวน 2 ไร่ เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน จำนวน 100 ตารางวา ด้านปศุสัตว์ จำนวน 100 ตารางวา แบ่งเป็น เลี้ยงไก่ และเป็ดไข่ ด้านประมง จำนวน 150 ตารางวา โดยเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 50 ตารางวา ยังปลูกไม้ประดับเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งกิจกรรมหลักทางการเกษตรที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี คือ การทำนาข้าวปลอดสารพิษ โดยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,766 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลตอบแทน 10,524 บาท/ไร่/รอบการผลิต คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 5,758บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคาขายเฉลี่ยช่วงรอบเก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคม 2565 ความชื้น 20 % ราคาอยู่ที่ 9,500 บาท/ตัน
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน นายฐิติโชค ได้ใช้เทคโนโลยีรถดำนา และใช้โดรนในการเกษตร นอกจากนี้ยังได้ทำการวิเคราะห์ค่าดิน เพื่อใช้ ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นลดการใช้ปุ๋ยบำรุงในส่วนที่ไม่จำเป็น และเลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดินโดยจะใส่ปุ๋ยผสมกับจุลินทรีย์ที่จะช่วยเรื่องการดูดซับปุ๋ย และลดการใช้ปุ๋ยลงร้อยละ 25 และปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาใช้สารชีวภัณฑ์ ลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ และการเผาตอซังข้าว เพื่อปรับปรุงดิน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันได้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น การสีข้าว แปรรูปสมุนไพร ผลิตภัณฑ์น้ำพริก เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงนอกฤดูการผลิตยังมีรายได้จากการขายสินค้าจักรสาน และงานฝีมืออื่นๆ
จากความสำเร็จในการทำเกษตรแบบผสมผสาน สามารถต่อยอดไปจนถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ประกอบกับความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างเข้าใจง่าย สามารถเป็นตัวอย่างและเข้าถึงเกษตรกรและผู้ที่สนใจ จึงได้รับเลือกจากหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นวิทยากรบรรยายให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาชุมชนอำเภอลาดยาว โดยกรมพัฒนาชุมชน , โครงการอบรมหลักสูตรพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงงานที่ 8 นครสวรรค์ โครงการเรียนรู้จัดทำทำบัญชีครัวเรือน โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์นครสวรรค์ เป็นต้น รวมถึงได้รับเลือกให้เป็นวิทยากร และเกษตรกรตัวอย่างในการบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการจัดอบรมและสัมมนาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรตลอดมา ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลหรือมีความประสงค์เข้าศึกษาดูงานสามารถติดต่อได้ที่ นายฐิติโชค คำไทย ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ โทร. 08 2479 6561 ยินดีให้คำปรึกษาและต้อนรับทุกท่าน