นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ(คกอช.)ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่เป็นประธานฯ แทนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา(ร่าง)แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570)
โดย มกอช.และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ(คกอช.) ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการฯฉบับดังกล่าวขึ้น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ(ร่าง)แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) พร้อมเป้าหมายและตัวชี้วัด ซึ่งเชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอาหารจากภาคการเกษตร การแปรรูป การบริการ สู่โภชนาการและสุขภาพของคนไทย ตลอดจนวัฒนธรรมการท่องเที่ยวและการค้า โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดพื้นฐาน ให้เป็นกรอบนโยบายและกลไกบูรณาการ การดำเนินการด้านการจัดการอาหารของประเทศไทยให้มีเป้าหมายและทิศทางเดียวกันเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติ และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของ(ร่าง)แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านความมั่นคงอาหาร 2) ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร 3) ด้านอาหารศึกษา และ 4) ด้านการบริหารจัดการ
พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายไว้ 6 ด้าน ได้แก่ 1) จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง 2) ปริมาณการสูญเสียและขยะอาหารลดลง 3) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น 4) มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น 5) จำนวนคนที่มีภาวะโภชนาการ (ขาดและเกิน) ลดลง และ 6) มีกลไกประสานงานกลางและบูรณาการดำเนินการ
“สาระสำคัญของ(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 – 2570 ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในหลายด้าน เช่น ด้านการเกษตร ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านสาธารณสุข เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ว่า ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม” เลขาธิการ มกอช. กล่าว