อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมด่านตรวจพืชนครพนม และ ศวพ.นครพนม มุ่งเน้นงานวิจัยการเกษตรควบคู่คุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร เน้นย้ำเกษตรปลอดภัย แนะนำเกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนเคมีเกษตร
วันที่ 18 มกราคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดนครพนมเพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามผลการปฏิบัติงานของด่านตรวจพืชนครพนม ตามภารกิจด้านการควบคุมตรวจสอบพืช ผลิตผลพืชและวัสดุการเกษตรที่นำเข้า นำผ่าน และส่งออก ตามตาม พ.ร.บ. กักพืช วัตถุอันตราย ปุ๋ย พันธุ์พืช ยาง และคุ้มครองพันธุ์พืช
โดยในปี 2565 มีการนำเข้าสินค้าเกษตร จำนวน 40,622.37 ตัน มูลค่ารวม 269 ล้านบาท สินค้าเกษตรที่นำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มันเส้น (Tapioca chip) ไม้แปรรูป และแครอท โดยสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มาจาก สปป.ลาว นอกจากนี้มีการนำเข้าปุ๋ยจาก สปป.ลาว เป็นชนิดปุ๋ยเคมี สูตร 0-0-60 จากสปป.ลาว ปริมาณ 306,562 ตัน มูลค่ารวม 1,555 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรทางด่านตรวจพืชนครพนม ดำเนินการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชจำนวน 8,229 ฉบับ ปริมาณ 166,100 ตัน มูลค่ารวม 14,493 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 มีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช 34,187 ฉบับ ปริมาณการส่งออก 626,823 ตัน มูลค่ารวม 59,404 ล้านบาท ซึ่งมีปริมาณการส่งออกลดลง 76% โดยสินค้าเกษตรที่ส่งออกสูงสุด 5 อับดับแรก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไยหมาก และขนุน ประเทศปลายทาง ได้แก่ จีน เวียดนาม และ สปป.ลาว นอกจากนี้มีการส่งออกปุ๋ยเคมี 28 สูตร ปริมาณ 5,998 ตัน มูลค่ารวม 132 ล้านบาท ประเทศปลายทาง สปป.ลาว
การส่งออกในปี 2565 ลดลงอย่างมากเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 โดเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนได้ประกาศมาตรการ ZERO Covid รวมถึงการตรวจสอบการปนเปื้อนสินค้าอาหารที่ส่งผ่านระบบห่วงโซ่ความเย็นอย่างเคร่งครัด ผู้ประกอบการขนส่งประสบปัญหารถติดที่หน้าด่านนำเข้าของจีน โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กวนซึ่งเป็นด่านนำเข้าหลักของผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าทางด่านนครพนมไปจีน จากการขนส่งทึ่ล่าช้าส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพผลไม้ ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าผ่านด่านนครพนมมีจำนวนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากรายงานของฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ยกเลิกมาตรการการทดสอบการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด – 19 กับผลิตภัณฑ์อาหารที่ขนส่งผ่านระบบห่วงโซ่ความเย็นและสินค้าที่ไม่ได้ขนส่งผ่านระบบห่วงโซ่ความเย็นที่นำเข้าตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกผลไม้ให้ถึงมือผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างรวดเร็ว และได้ผลไม้ที่สดใหม่และมีคุณภาพยิ่งขึ้นส่งผลให้ราคาผลผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามกรมวิชาการเกษตร ยังคงเข้มงวดในการป้องกันเชื้อโควิดปนเปื้อนในผลไม้ไทยส่งออก เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสินค้าเกษตรไทยมีมาตรการคุมเข้มการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับการส่งออกผลไม้ฤดูกาล ปี 2566 โดยเฉพาะทุเรียนภาคตะวันออก ที่จะเริ่มมีการเก็บเกี่ยวและส่งออกช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ตรวจสอบคุณภาพของทุเรียนให้ได้ตามมาตรฐานการส่งออกรวมถึงการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงพิธีสารไทย-จีน เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ไทยให้เป็นที่ต้องการแก่ผู้บริโภคยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังได้เน้นย้ำ ผลผลิตทางการเกษตร ต้องมีความปลอดภัย ทั้งเกษตรกร และผู้บริโภค กรมวิชาการเกษตรต้องมุ่งเน้น งานวิจัย ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าเกษตร เกษตรกรต้องปลอดภัยแนะนำเกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนเคมีเกษตร