วันที่ 18 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ชี้แจงถึงข้อกังวลจากสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี เรื่องการจ่ายเงินชดเชยการนำเรือประมงออกนอกระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องนี้เมื่อได้เป็นมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้แล้ว ขั้นตอนต่อไปตามระเบียบราชการ คือการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ในวันที่ 30 ม.ค.นี้ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
ทั้งนี้เมื่อ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาตามมาตรการลดจำนวนเรือประมง เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เห็นชอบการตรวจสอบประวัติความถูกต้องและคุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กรณีเร่งด่วน (เรือชุดที่1) จำนวน 96 ลำเรียบร้อยแล้ว และจะได้ใช้เกณฑ์และคุณสมบัติการตรวจสอบนี้เป็นมาตรฐานในการดำเนินการกับเรืออื่นอีก1,776 ลำซึ่งเป็นการปรับเกณฑ์และคุณสมบัติเหลือเพียงเกณฑ์สีขาวและดำเท่านั้น จากเดิมที่มี ขาว เทา และดำ โดยเรือที่ผ่านเกณฑ์และมีคุณสมบัติครบถ้วน จะได้ถูกเสนอเพื่อการพิจารณาจากอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติในลำดับต่อไป ก่อนเสนอสู่คณะรัฐมนตรี
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินการของศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นส่วนราชการหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางกลไกระเบียบราชการโดยต้องเสนอโครงการผ่านคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาประมงทั้งประเทศมีเอกภาพ เกิดความเป็นธรรมและไม่เหลื่อมล้ำกับประมงในจังหวัดอื่น จึงขอเรียนให้พี่น้องชาวประมงเข้าใจในขั้นตอนทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและคลายกังวล ทุกหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องเร่งรัดการแก้ปัญหาแก่ประชาชน และท่านนายกรัฐมนตรีได้รับทราบถึงการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เปิดเผยว่า “โครงการนำเรือออกนอกระบบ” เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลให้เกิดความยั่งยืน และเป็นการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ภายใต้พระราชกำหนดการประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบตามแผนบริหารจัดการประมงทะเลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไว้ตั้งแต่ 3 พ.ย. 2558
โดย “โครงการนำเรือออกนอกระบบ” เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 และ 2 มีเรือที่นำออกนอกระบบและรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาไปเรียบร้อยแล้ว จำนวน 364 ลำ ซึ่งชาวประมงมีความพึงพอใจที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือการประกอบอาชีพด้วยการซื้อเรือคืนเพื่อนำเรือออกนอกระบบ แต่ยังมีกลุ่มเรือประมงอีกจำนวนมากที่ประสงค์จะนำเรือออกนอกระบบ และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลไทย ปี 2563 – 2565 ในการบริหารจัดการกองเรือให้มีความสมดุลกับทรัพยากรประมงทะเลและเกิดความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ และเพิ่มความคล่องตัวในการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ลดปัญหาความขัดแย้งในการทำการประมง บรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวประมงได้ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้ชาวประมงได้มีโอกาสประกอบอาชีพอื่น ๆ
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงจึงได้ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยให้ปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการบริหารโครงการนำเรือออกนอกระบบให้เร็วขึ้นด้วยการใช้วงเงินของธกส.ซื้อคืนเรือให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยรัฐบาลชำระคืน ธกส. ตามจำนวนและระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร กรมประมงจึงดำเนินหารือกับ ธกส.จนได้ข้อยุติด้วยการใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อให้สามารถนำเรือประมงออกนอกระบบได้ทั้งหมดในคราวเดียวกัน ด้วยวิธีการซื้อเรือคืน สำหรับกลุ่มเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่ประสงค์จะเลิกอาชีพทำประมงเพิ่มเติม
ทั้งนี้ มีเรือประมง จำนวน 1,007 ลำ ที่ผ่านการตรวจสอบประวัติและมีคุณสมบัติครบถ้วน จากคณะทำงานตรวจสอบประวัติความถูกต้อง คุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือ และได้รับการประเมินราคาชดเชยจากคณะทำงานประเมินราคาเรือประมงโดยมีวงเงิน จำนวน 1,806,334,900 บาท ซึ่งขณะนี้ผ่านการเสนอที่ต่อประชุมคณะทำงานกลั่นกรองการเยียวยาและดำเนินการตามมาตรการลดจำนวนเรือประมงเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565ที่ผ่านมา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว