นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากการที่ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเร่งตรวจสอบสารตกค้างสีฟ้าในตัวอย่างต้นหอมที่จำหน่ายในตลาดสี่มุมเมืองและรายงานให้ทราบโดยเร็วเพื่อคลายข้อกังวลต่อผู้บริโภคนั้น
ในวันนี้(18 มกราคม 2566) ได้รับรายงานจากนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรว่า ผลการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในห้องปฏิบัติการด้วยเครื่อง GC-MS และเครื่อง Atomic Absorption Spectrometer (AAS) ของกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร พบว่าเป็นสารแมนโคเซบ (mancozeb) ตกค้างประมาณ 2 mg/kg ซึ่งอยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่เกินค่ามาตรฐาน(EU MRL 3 mg/kg in leeks)
รวมทั้งสารแมนโคเซบเป็นยาชนิดสัมผัสบริเวณผิว ไม่ใช่สารที่ดูดซึมเข้าในต้นหอม ดังนั้นการล้างให้สะอาดโดยให้สารที่เคลือบออกหมดก่อนจำหน่ายหรือบริโภค จะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับอันตราย
“แม้ผลการตรวจวิเคราะห์จะยืนยันออกมาแล้วว่าปริมาณสารตกค้างดังกล่าวไม่เป็นอันตรายแต่ก็ขอเน้นย้ำให้ทั้งผู้ค้าและผู้บริโภคล้างทำความสะอาดต้นหอม หรือพืชผัก ผลไม้ทุกชนิด เพื่อไม่ให้มีสารตกค้างปนเปื้อนก่อนนำไปจำหน่ายหรือนำไปบริโภค พร้อมกับได้เน้นย้ำให้กรมวิชาการเกษตรเร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกหอมใช้สารดังกล่าวในการป้องกันกำจัดเชื้อราให้ปลอดภัย หรือปลอดสารตกค้างต่อไปโดยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญคือการใช้สารดังกล่าวในต้นหอมต้องเก็บเกี่ยวต้นหอมหลังจากพ่นครั้งสุดท้าย อย่างน้อย 15 วัน” นางสาวมนัญญา กล่าว