ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า ตามนโยบาย “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ที่มุ่งกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้กับประเทศ โดยมุ่งเน้นภาพรวมในด้านต่าง ๆ ตลอดจนมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินโครงการตามแผนงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไวที่สุด
โดยมี สศก. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาตั้งแต่ปี 2563 และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกระทรวงต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐ ภายใต้ 3 แนวทางหลัก คือ
-แนวทางที่ 1 การพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง)
-แนวทางที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการชุมชน (กลางทาง) และ
-แนวทางที่ 3 การพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด (ปลายทาง) จนปัจจุบัน มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวม 22 โครงการ
ทั้งนี้ สศก.ได้ติดตามผลการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 -2565) พบว่า สามารถช่วยยกระดับกลุ่มเป้าหมายทั้งประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อย สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ผลิต/ผู้ประกอบการได้มากกว่า 1.32 ล้านราย รวม 4,337 กลุ่ม เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมากกว่า 15,137 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนมากถึง 781,066 ล้านบาท
ซึ่งภาพรวมของผลสำเร็จที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สศก. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพ จะร่วมกับทุกหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ ในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เศรษฐกิจฐานราก คือ ระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถพึ่งตนเองภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่น ๆ ในพื้นที่ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เป็นระบบเศรษฐกิจแนวราบที่ส่งผลและสร้างความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างผู้คนในชุมชนท้องถิ่น มิใช่เป็นเฉพาะเศรษฐกิจแนวดิ่งแบบปัจเจกแต่สามารถทำให้เกิดความร่วมมือ เกิดโอกาสและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเศรษฐกิจร่วมของชุมชนกับเศรษฐกิจของปัจเจก เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนสร้างความสัมพันธ์ ทั้งในชุมชนท้องถิ่นและในระดับที่กว้างขวางอื่น ๆ และภายนอก
ทั้งนี้องค์ประกอบสําคัญของเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง จะต้องมีองค์ประกอบต่อไปนี้
มีการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างพลังในการทำงานร่วมกัน ความสามารถที่จะเจรจาต่อรองและประสานงานทั้งภายในและภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ
มีการจัดการระบบการเงินของชุมชน การบูรณาการทุนร่วมกัน มีกองทุนของชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถเป็นกลไกการเงินของชุมชนในการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจสังคม อาชีพ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมของชุมชน และของคนในชุมชน
มีระบบการจัดการทุนชุมชนที่ครอบคลุมทุนทางสังคม ทุนคน ฟื้นฟูทรัพยากร วิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญา อัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น ประวัติศาสตร์
มีระบบข้อมูลที่ทันสมัยรอบด้านทั้งภายในและภายนอก เพื่อการวิเคราะห์ระบบของท้องถิ่น อาชีพ รายได้รายจ่าย การผลิต ฐานเศรษฐกิจ ที่ดิน ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ข้อมูลความรู้ระบบเศรษฐกิจเกี่ยวข้องภายนอก เป็นฐานสำคัญในการวางแผนชุมชน การวางแผนเพื่อการตัดสินใจ การติดตาม วัดผลและรายงานผล
มีระบบการผลิตของชุมชนทั้งขั้นพื้นฐานและก้าวหน้า ที่ได้มาตรฐาน มีมูลค่าเพิ่มและสามารถเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจภายนอกได้
สร้างความร่วมมือในทุกระดับและทุกมิติ เพื่อให้เกิดความร่วมมือให้บรรลุเป้าหมายและสัมพันธภาพที่ดี ทั้งระดับกลุ่มต่อกลุ่ม กลุ่มกับชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภูมินิเวศน์ หรือรวมตัวกันเป็นเครือข่ายประเด็นต่างๆได้ เช่น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายข้าว เครือข่ายประมงพื้นบ้าน เครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชน เครือข่ายภูมินิเวศน์วิถีวัฒนธรรม หรือการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น
มีระบบการอยู่ร่วมกัน หรือเคารพกติกา จารีตประเพณีในการอยู่ร่วมกัน ระบบสวัสดิการการดูแลซึ่งกันและกันและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสังคมใหญ่อย่างสร้างสรรค์และเกื้อกูล
มีคุณธรรม จริยธรรมในการทำกิจกรรม การประกอบกิจการ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือการดำรงชีวิต
มีความเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยคนในชุมชนร่วมทุนร่วมกิจกรรมหรือกิจการ ในการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน มีสำนึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมกัน
คนในพื้นที่ของชุมชนสามารถมีส่วนร่วม มีความรู้เรื่องราวการพัฒนาในพื้นที่รวมทั้งความรู้ในสังคมอื่นๆ มีคุณภาพ มีความมั่นใจที่จะให้ความรู้ความเห็น ร่วมคิดร่วมทำ ตื่นรู้ มีความสร้างสรรค์ มีคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐาน ครอบครัวมีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด