ไทยร่วมประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน แลกเปลี่ยนข้อมูล“สินค้าอาหาร”สำคัญ 4 ชนิด ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง เพื่อประเมิน “ความมั่นคงทางอาหาร” ในภูมิภาคและการเตรียมการรับมือหลังเผชิญความท้าทายจากโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมฯ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Reserve Board : AFSRB) ผ่านการประชุมทางไกล ร่วมกับอาเซียน 8 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม โดยมีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสถานการณ์สินค้าอาหารสำคัญ และประเมินสถานการณ์ “ความมั่นคงทางอาหาร” ในภูมิภาคที่เผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย–ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่ออุปทานอาหารทั่วโลก
อาเซียนได้มีการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์อาหารสำคัญของอาเซียน 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง รวมทั้งคาดการณ์ผลผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองอาหารของภูมิภาคและของโลก อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายในการ “เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร” โดยเฉพาะสินค้าข้าว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจส่งผลต่อปริมาณอุปทานสินค้าอาหารในภูมิภาคอาเซียน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เป็นความท้าทายต่อความมั่นคงทางอาหารครั้งใหญ่ของโลก
ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน สำนักเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Information System : AFSIS) สำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม(ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve : APTERR) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co – operation and Development : OECD) เข้าร่วมประชุม
นายพิทักษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (ASEAN Integrated Food Security : AIFS) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (Strategic Plan of Action – Food Security : SPA-FS) ปี 2564–2568 จากสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยความท้าทายต่าง ๆ เพื่อสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” ในระยะยาว และเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในภูมิภาคอาเซียนให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ผู้แทนจาก OECD ได้เชิญชวนสมาชิกอาเซียนที่สนใจเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารของ “สินค้าเกษตร“และ“สินค้าประมง”ร่วมกันผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในช่วงปลายปีนี้ด้วย
สำหรับการประชุม AFSRB เป็นกลไกความร่วมมือสำคัญของสมาชิกอาเซียนในการเตรียมพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค โดยคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB) ได้จัดตั้งขึ้นภายใต้ความตกลงว่าด้วยการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (Agreement on the ASEAN Food Security Reserve) ที่ได้มีการลงนามเมื่อปี 2522
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านอาหารภายในภูมิภาค ซึ่งประเทศสมาชิกจะประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งประเมินและคาดการณ์สถานการณ์อาหารของภูมิภาคอาเซียนและของโลก ตลอดจนติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจถึงความมั่นคงด้านอาหาร โดยในปี 2566 อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม AFSRB ครั้งที่ 43 ต่อไป