วันที่ 5 ม.ค.66 รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการสำรวจความความพึงพอใจของผู้รับบริการ และสำรวจการรับรู้ความเข้าใจของประชาชน ที่มีต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี 2565 ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565-2 มกราคม 2566 กระจายกลุ่มตัวอย่างในทุกจังหวัดของประเทศไทย จำนวน 1,678 ชุด พบว่า ร้อยละ 87.39 ประชาชนมีความพึงพอใจในภาพรวมต่อการปฏิบัติงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2565
ด้านความพึงพอใจผลงานตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.38 พึงพอใจยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรฯ รองลงมา ร้อยละ 90.21 ยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร และร้อยละ 87.04 ยุทธศาสตร์เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
ด้านความพึงพอใจผลงานตามนโยบาย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.18 พึงพอใจนโยบายตลาดนำการผลิต รองลงมา ร้อยละ 90.58 นโยบายการส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา,ร้อยละ 90.18 นโยบายการประกันรายได้เกษตรกร,ร้อยละ 89.37 นโยบายการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร และร้อยละ 89.13 การประกันภัยพืชผล
ด้านความพึงพอใจต่อแอพพลิเคชั่นและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงฯ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.91พึงพอใจแอพพลิเคชั่น “เกษตรดิจิทัล” รองลงมา ร้อยละ 87.83 แอพพลิเคชั่น “Plants For U”, ร้อยละ 87.76 แอพพลิเคชั่น “สมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล”, ร้อยละ 87.62 แอพพลิเคชั่น “OAE OIC”, ร้อยละ 87.52 แอพพลิเคชั่น “SmartMe” และร้อยละ 87.22 แอพพลิเคชั่น “Smart Co-op”
ขณะที่ภาพลักษณ์ของกระทรวง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.24 ประชาชนมองว่า เป็นหน่วยงานที่ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความมั่นคง รองลงมา ร้อยละ 89.44 เป็นหน่วยงานบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 89.39 เป็นหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจภาคการเกษตรและสหกรณ์ให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และร้อยละ 89.21 เป็นหน่วยงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ส่วนผลการปฏิบัติงานตามค่านิยมขององค์กร ส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.31 มองว่า มีคุณธรรม รองลงมา ร้อยละ 87.01 มีความสามารถในการสร้างสรรค์, ร้อยละ 86.38 ตรงไปตรงมา และร้อยละ 84.99 ตรวจสอบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีศึกษาประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ทั่วประเทศทั้ง 6 ภูมิภาค จำนวน 3,038 คน ระหว่างวันที่ 17-22 ธันวาคม 2565 ผลสำรวจพบว่านโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประชาชนชื่นชอบและเห็นว่าเกิดประโยชน์มากที่สุด อันดับ 1 คือ นโยบาย การประกันรายได้ของเกษตรกร ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คิดเป็น 57.50% รองลงมา คือ การประกันภัยพืชผล 41.21% และตลาดนำการผลิต 36.54% โดยประชาชนส่วนใหญ่มองว่าโครงการที่มีการดำเนินงาน และประสบผลสำเร็จมากที่สุด คือ โครงการเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย 52.14% รองลงมา ได้แก่ บริหารจัดการและ พัฒนาแหล่งน้ำ 33.57% และปฏิบัติการฝนหลวง 24.06%
และเมื่อสอบถามถึงความต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าช่วยเหลือด้านใดมากที่สุด พบว่า ประชาชนต้องการให้กระทรวงเกษตรแลบะสหกรณ์ แก้ไขเรื่องปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำมากเป็นอันดับแรกถึง 78.67% รองลงมาคือช่วยเหลือหนี้สิน/กองทุน 53.16% และขอให้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ 50.92%
สำหรับภาพรวมเต็ม 10 คะแนน ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 7.66 คะแนน และให้คะแนนความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ 7.80 คะแนน