ก.เกษตรฯ ชงงดเผาในพื้นที่เกษตรกรรมในการประชุมเตรียมพร้อมรับมือ ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ปี 66

ในการประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ปี 2566 โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและมีปลัดกระทรวงฯ/ผู้แทน 11 กระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคเหนือ เข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS อาคารเจียงราย จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ผ่านมานั้น นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เข้าร่วม

               

322121876 714215493431160 4435697254611736361 n
ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า

สำหรับการประชุมดังกล่าว ได้รับทราบการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ปี 2566 ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมาตรการป้องกัน แก้ไข ปัญหาในพื้นที่เกษตรกรรม 3 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 การสร้างการรับรู้ รณรงค์ และประชาสัมพันธ์

มาตรการที่ 2 การป้องกันและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง

มาตรการที่ 3 การส่งเสริมและสร้างเครือข่ายในการงดเผาในพื้นที่เกษตรกรรม

โดยมีเป้าหมายลดจุดสะสมความร้อนในพื้นที่การเกษตรลดลง ร้อยละ 10 จากปี 2565

               

ทั้งนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เน้นย้ำให้กระทรวงและสหกรณ์ ดำเนินการ ดังนี้

1.เฝ้าระวัง ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง การเผาในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเคร่งครัด โดยประชาสัมพันธ์เชิงรุกสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร

2.สร้างเครือข่ายเกษตรกรงดการเผา และขยายเครือข่าย เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นเกษตรปลอดการเผา

3.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร สร้างมูลค่า พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน บนหลักการ BCG

             

นอกจากนี้ ประธานฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการเตรียมความพร้อมรับมือ สถานการณ์ไฟป่า และปล่อยขบวนคาราวาน การป้องกันและแก้ไขปัญหา 3 พื้นที่ “เมือง ป่า เกษตรกร” ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาหมอกควันและการเผาส่งผลกระทบเป็นมุมกว้างต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยสาเหตุของปัญหาคือการเผาพื้นที่การเกษตร เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย คุ้มค่า ใช้เวลาน้อย สะดวกสบาย และต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะการเผาซังข้าวโพด ตอซังข้าว และเศษวัสดุหลังการเก็บเกี่ยว ในเกษตรกรบางรายยังมีความเชื่อเรื่องการเผาว่าง่ายต่อการควบคุมวัชพืชและการเตรียมดิน การเผาในพื้นที่เกษตรที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแหล่งที่มาของจุดความร้อน เกิดฝุ่นควันที่เห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงหลังเก็บเกี่ยวและช่วงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ในอดีตเกษตรกรในชุมชนมีการทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือ การปลูกข้าว ข้าวโพดและปลูกผัก ที่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่เข้มข้นและปริมาณมาก ก่อให้เกิดปัญหาการเผาเตรียมพื้นที่และการเก็บเกี่ยวผลผลิต มีผลต่อสุขภาพอนามัยของเกษตรกรและประชาชน ทำให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาและจัดการปัญหาการเผาและหมอกควันด้วยการปรับระบบการทำเกษตร เป็นแบบต่าง ๆ ดังนี้

ระบบเกษตรผสมผสาน  ( Integrated  farming  system ) เป็นระบบเกษตรที่มีการปลูกพืชและมีการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกันโดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิด เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเกิดการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ การเกื้อกูลกันระหว่างพืชและสัตว์ เศษซากพืช และผลพลอยได้จากการปลูกพืชจะเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ และผลพลอยได้จากการเลี้ยงสัตว์ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพืชเช่นกัน ระบบเกษตรผสมผสานเป็นระบบเกษตรกรรมที่จะนำไปสู่การเกษตรยั่งยืน

ระบบเกษตรประณีต เป็นการทำเกษตรเพื่อผลิตอาหารและปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ทำให้เกษตรกรไม่ต้องวิ่งตามกระแสของตลาด อาหารที่ผลิตได้ปลอดภัยจากสารพิษ แถมเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนแบบพึ่งพากันด้วย

การปลูกพืชในโรงเรือนหรือการเกษตรในร่ม( Indoor farming ) เป็นรูปแบบการเกษตรที่ช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากร ทั้งน้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูกและแรงงาน รวมถึงยังสามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ต้องการ สามารถปลูกพืชได้หลายรุ่นในรอบปี จึงช่วยลดความ ผันผวนในด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ดีกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม 

การปลูกไม้ผลทดแทนการปลูกพืชไร่ในพื้นที่ลาดชัน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการเผาพื้นที่เกษตรได้