โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีธุรกิจอาหารแช่แข็งไทยโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าโดยรวม 3 ปีกว่า 3 แสนล้านบาท ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอาหารแช่แข็งไทย 10 เดือนแรกปี 2565 เพิ่มขึ้น 84 %
วันที่26 ธันวาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบจากการรายงาน การเติบโตของธุรกิจอาหารแช่แข็งของประเทศไทย ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้ารวม 3 แสนล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ไทยมีภาคธุรกิจอาหารแช่แข็งที่เติบโตดี ทั้งการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ และการส่งออก โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอาหารแช่แข็งในไทยทำมูลค่าการค้าโดยรวมได้ถึง 3 แสนล้านบาท ซึ่งช่วงเดือนมกราคม- ตุลาคม 2565 มีการจดทะเบียนนิติบุคคลในธุรกิจอาหารแช่แข็ง เพิ่มขึ้นถึง 84% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนไทยมีการลงทุนธุรกิจอาหารแช่แข็งในไทยเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าทุน 48,091.14 ล้านบาท (ร้อยละ 86.20) ตามมาด้วย ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 3,629.82 ล้านบาท (ร้อยละ 6.51) , จีน มูลค่าการลงทุน 1,038.45 ล้านบาท (ร้อยละ 1.86) และ สิงคโปร์ มูลค่าการลงทุน 813.89 ล้านบาท (ร้อยละ 1.46) ซึ่งในเดือน มกราคม-กันยายน 2565 มีสินค้า 8 ชนิดของอาหารแช่แข็งไทยจำพวกวัตถุดิบแช่แข็งที่ส่งออกไปต่างประเทศ มีมูลค่าการส่งออกอาหารแช่แข็งถึง 87,896 ล้านบาท ได้แก่ ผลไม้แช่แข็ง ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื้อปลาและปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปูสดแช่เย็นแช่แข็งนึ่งหรือต้ม ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง
โดยแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นของธุรกิจอาหารแช่แข็งในไทย ทั้งเพื่อบริโภคในประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นอาหารแช่แข็งพร้อมทาน และส่งออกไปตลาดต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบแช่แข็ง สืบเนื่องมาจากอาหารแช่แข็งสามารถเก็บรักษาได้นาน ได้เปรียบเรื่องการรักษาความสด และช่วยลดจำนวนในการออกไปซื้อของที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยผลักดันการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ จนสามารถส่งออกและแข่งขันในเวทีโลกได้ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ตลาดสินค้าอาหารแช่แข็ง นั้นเป็นการเพิ่มโอกาสที่สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย ตามนโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” ทั้งนี้ ประเทศไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นครัวของโลก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมอาหารที่เข้มแข็ง มีความสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรอาหาร และมีศักยภาพในการผลิต การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข่งเป็นหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญของความสำเร็จนี้ ทั้งนี้จะส่งผลต่อยอดไปถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมทางด้านอาหารอีกด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธุรกิจอาหารแช่แข็งของไทยกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งความแข็งแกร่งของธุรกิจสะท้อนได้จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่หลายธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ธุรกิจอาหารแช่แข็งยังคงสามารถเติบโตได้ดี สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกในการรับประทานอาหาร ดังนั้นธุรกิจอาหารแช่แข็งมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นทั้งการจำหน่ายเพื่อบริโภคในประเทศ และเพื่อการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ