วันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่ห้องประชุม 201 อาคารรัฐสภา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ผู้บริหารสมาคมฯ และตัวแทนชาวประมง 22 จังหวัด เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนถึงความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการไอยูยู และกฏระเบียบที่ภาครัฐออกมาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การกำหนดโทษที่รุนแรงเกินไป กระทบต่อการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ ความลักลั่นของกฎหมายแรงงาน ระหว่างภาคการประมงกับภาคอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ทำลายอุตสาหกรรมประมงทั้งประเทศ ชาวประมงไม่สามารถทำมาหากินได้ จนต้องเลิกกิจการจำนวนมาก ส่งผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าสัตว์น้ำมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏ
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ได้รับฟังปัญหาและเห็นด้วยกับความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อขจัดอุปสรรคต่อการทำมาหากินของชาวประมงทุกกลุ่ม โดยได้สั่งตั้งคณะทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพิจารณาการปรับแก้กฏหมายที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหาการริดรอนสิทธิ ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ โดยยึดหลักการตามมาตรฐานสากล ไม่เกินเกณฑ์ไอยูยู รักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสืบเนื่องจากสหภาพยุโรป(EU) เตือนไทยถึงเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายส่งผลให้ไทยตื่นตระหนกถึงผลกระทบที่ตามมาเนื่องจากสหภาพยุโรปถือเป็นตลาดใหญ่ในการส่งออกสัตว์น้ำมีรายได้จากการส่งออกหลายแสนล้านบาท
รัฐบาลในขณะนั้นภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีการใช้กฎหมายธรรมนูญในการควบคุมความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยเฉพาะมาตรา 44 ซึ่งคุ้มครองผู้ออกกฎหมายสามารถดำเนินการได้ในทันทีเปรียบเสมือนดาบสองคมในด้านที่ดีเกิดการแก้ไขปัญหาตรงจุด ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากทางกฎหมาย ย่นระยะเวลาในการออกกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันย่อมเกิดการไม่กลั่นกรองถึงผลกระทบของกฎหมายขาดการทำประชาพิจารณ์รวมถึงการตรวจสอบในขั้นตอนต่าง ๆ
การใช้มาตรา 44 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม โดยให้ระยะเวลากลุ่มประมง 6 เดือน เพื่อทำให้ถูกกฎหมาย ในความเป็นจริงถือเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ล้วนมีข้อผ่อนปรนการเยียวยา รวมถึงการหาช่องทางประกอบอาชีพอื่นให้กับกลุ่มประมงอาศัยระยะเวลาหลายปี เช่น ประเทศเวียดนามที่ใช้ระยะเวลาในการทำประมงให้ถูกกฎหมาย 8 ปี เป็นต้น และเมื่อนำมาเทียบกับระยะเวลาที่ขีดเส้นใต้ของประเทศไทยย่อมเกิดข้อเปรียบเทียบ การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ถือได้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปทำให้ประเทศไทยสามารถรอดพ้นจาก IUU Fishing แต่ผลกระทบที่ตามมาจากการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วยังส่งผลถึงกลุ่มประมงโดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ทำการประมงเพื่อยังชีพมีวิถีชีวิตมาตั้งแต่บรรพบุรุษต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสากลทั้งยังเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับกลุ่มประมงพาณิชย์ก่อให้เกิดความอึดอัด ความเดือดร้อน
ส่วนกลุ่มประมงพาณิชย์ ซึ่งเป็นธุรกิจการทำประมงที่มีทุนทรัพย์ในการครอบครองเรือ การเช่าเรือรวมถึงมีทรัพยากรในการออกหาสัตว์น้ำเพื่อผลกำไรมักเป็นการทำประมงขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มีเครื่องมือที่หลากหลายและทันสมัยกว่ากลุ่มประมงพื้นบ้าน นำสัตว์น้ำมาขายปลีกตามตลาดซื้อขายสัตว์น้ำและขายส่งเพื่อแปรรูปไปยังโรงงานต่าง ๆ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ โรงงานแปรรูป โรงน้ำแข็ง ธุรกิจขนส่ง ตู้แช่เย็น เป็นต้น นโยบายการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU FISHING) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในกลุ่มประมงพาณิชย์ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องชะลอตัว มีกลุ่มประมงพาณิชย์เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากทำถูกกฎหมายประมงทุกประการ
ดังนั้นแนวความคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่จึงต้องอาศัยความร่วมมือโดยภาครัฐเป็นผู้ประสานระหว่างภาคประชาสังคมและภาคเอกชน นโยบายการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU FISHING) ที่กฎหมายออกมาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวย่อมขัดต่อแนวความคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ ขาดความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาสังคม การบังคับใช้กฎหมายที่ขาดการประชาพิจารณ์หาทางออกร่วมรวมถึงทางเยียวยาแก่ทุกฝ่ายย่อมทำให้เกิดความรู้สึกถูกบังคับ ถูกภาครัฐรังแก การไม่ยินยอมพร้อมใจ เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายหลังการปลดใบเหลืองของประเทศไทยแล้ว จะต้องตั้งโต๊ะร่างกฎหมายโดยแยกเป็นกฎหมายประมงพาณิชย์และกฎหมายประมงพื้นบ้าน โดยมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายของสากลจึงจะเกิดความชอบธรรมทางกฎหมาย