กระทรวงเกษตรฯ จับมือมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และภาคเอกชน มอบรางวัล “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2565” ภายใต้แนวคิด “เกษตรนวัตกรรมเพื่อความสุขยั่งยืน”หนุนเสริมศักยภาพเกษตรกรเป็นต้นแบบด้านนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีประกาศผล“โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2565” ระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
โดยมีนายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด คุณชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้าร่วม ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ว่า ภาคการเกษตรมีบทบาทความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การขับเคลื่อนของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” เพื่อให้เกษตรกรหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี
โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวมตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกำหนดนโยบายสำคัญในการมุ่งพัฒนาภาคเกษตรใน 4 ประเด็นหลักได้แก่ (1) ความมั่นคงทางอาหาร (2) มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตร (3) ทรัพยากรการเกษตร มีความยั่งยืน และ (4) เป็นเกษตรมูลค่าสูง เพื่อให้เกษตรกรมีความพร้อมในการปรับตัว สามารถขับเคลื่อนงานเกษตรให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้กำหนดแผนพัฒนาการเกษตร 5 ปี(พ.ศ. 2566 – 2570) ให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น
โดยดำเนินการ 1) ช่วยเหลือ ดูแล พัฒนาและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาหารไว้บริโภค ลดรายจ่าย เกษตรกรเกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีรายได้เพิ่มขึ้น 2) ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร มีประสิทธิภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยการพัฒนาทักษะความสามารถเกษตรกรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยึดหลักตลาดนำการผลิต เพื่อยกระดับการผลิต และการจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามหลักสากลสู่การส่งออก 3) พัฒนาเกษตรกรองค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นYoung Smart Farmer และ Smart Farmer ที่มีขีดความสามารถด้านการเกษตร สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการและการตลาดสินค้าเกษตร เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน และเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนายกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการชั้นนำ
พร้อมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่ม โดยการนำกระบวนการบริหารจัดการกลุ่มมาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่าย การมีส่วนร่วม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมถึงการนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและผลิตภัณฑ์ พัฒนาช่องทางการตลาด ทำให้เกิดเครือข่ายทั้งในเชิงธุรกิจและสังคม และสามารถบริหารจัดการกองทุนนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนโดยมุ่งเน้นการทำงานขับเคลื่อนภาคการเกษตร ภายใต้หลักการ “Keep Going, Keep Growing ก้าวต่อไป เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปรับองค์กรเป็น Digital DOAE มุ่งขับเคลื่อน BCG สู่ความยั่งยืนของภาคเกษตร”
ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรอย่างบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย คือ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิดและบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง ความร่วมมือด้านการสนับสนุนกิจกรรมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่เกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรไทย สู่การเป็นเกษตรกรต้นแบบ (Smart Farmer Model) ผู้มีความรู้ ความสามารถเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญและจำเป็นไปยังเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมการเกษตรใหม่ ๆ
โดยในปี พ.ศ.2565 ได้จัดการประกวด“เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” ครั้งที่ 14 ขึ้น ภายใต้แนวคิด“เกษตรนวัตกรรม เพื่อความสุขยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบ มีแนวคิดและการปฏิบัติด้านนวัตกรรมและการใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ มาพัฒนาต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตรวมถึงการพึ่งพาตนเอง สู่การสร้างความมั่นคงและยั่งยืน แก่คุณภาพชีวิตของตนเอง สังคม และชุมชนและที่สำคัญที่สุด คือ เกษตรกรต้องมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิดความมุ่งมั่นในการตอบแทนคุณแผ่นดินเกิดของตนเอง ในการเป็นต้นแบบความสำเร็จ ยอมรับ และเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพเกษตรกรสู่สาธารณชนได้ โดยมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้เข้ามาให้การส่งเสริมการเรียนรู้โดยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแก่เกษตรกร
สำหรับเกษตรกรที่ได้รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ คุณประเสริฐ ไกนอก เกษตรกรจากโกโก้นางั่ว จังหวัดเพชรบูรณ์ เกษตรกรผู้ใช้นวัตกรรมทางความคิด ปรับ Mind set เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ทั้งคนและต้นไม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง ทำการเกษตรที่ลดต้นทุนและยั่งยืน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คุณจตุรงค์ จันมา เกษตรกรจากสวนนำฮอย จังหวัดยโสธร เกษตรกรนักคิดค้นพัฒนา นำไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์โดยใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตร ในกระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิต
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คุณธนาสิทธิ์ สอนสุภา สวนลุงไขา เกษตรอินทรีย์ จังหวัดชุมพร หนุ่มไอทีผูผันตัวเองเป็นเกษตรกรเต็วตัว สานต่อสวนกาแฟจากคุณพ่อ นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ พร้อมแบ่งปันความรู้สู่ชุมชน พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และรางวัลเกษตรดีเด่น ได้แก่ 1) คุณธวัชชัย สุริยะธรรมเกษตรกรจากสยามทรัส (Siam Trust) จังหวัดเลย 2) คุณจักรภพ แสงแก้ว เกษตรกรจากพรานพอเพียงออร์แกนิค ไลฟ์สไตล์ แอนด์ ฟาร์ม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 3) คุณนที โดดสูงเนิน เกษตรกรจากอำพันฟาร์ม จังหวัดนครราชสีมา 4) คุณชัยพิสิษฐ์ สอนศรี เกษตรกรจากมายโฮม@41 จังหวัดฉะเชิงเทรา 5) คุณพิธาน ไพโรจน์ เกษตรกรจากไร่นาปภาวรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 6) คุณวาริส แก้วภักดี เกษตรกรจากกรีนวิลล์ฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา และ 7) คุณอมลวรรณ ปริดตา เกษตรกรจากอิมม์ฟาร์ม จังหวัดลำพูน
ทั้งนี้ ทุกรายเป็นเกษตรกร Young Smart Farmer ของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์สร้างสรรค์ มีประโยชน์ สามารถเป็นแบบอย่างให้กับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พัฒนาต่อยอด และยังเป็นแรงขับเคลื่อนความการเปลี่ยนแปลงของภาคการเกษตรในอนาคตต่อไป อีกทั้งยังมีความสำคัญยิ่งในการเป็นต้นแบบ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ยึดแนวทางวิถีเกษตรอินทรีย์ และการทำการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน