รถไฟสินค้าขบวนพิเศษ ซึ่งขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระบบเย็น 25 ตู้ พร้อมกล้วยลาวสดใหม่จำนวน 500 ตัน ออกเดินทางจากสถานีเวียงจันทน์ในนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว โดยจะวิ่งสัญจรไปทางทิศเหนือผ่านภูเขาและแม่น้ำตามแนวทางรถไฟจีน-ลาว และมุ่งหน้าสู่นครฉางซา เมืองเอกของมณฑลหูหนาน ทางตอนกลางของจีน
รถไฟดังกล่าวเป็น “รถไฟขนกล้วย” ขบวนแรกที่เดินทางตรงไปยังเมืองหนึ่งของจีนโดยเฉพาะ นับตั้งแต่ทางรถไฟจีน-ลาวเปิดใช้งานเมื่อปีที่แล้ว และยังเป็นรถไฟที่เปิดตัวภายใต้โครงการ “หนึ่งเที่ยว สองนิคม” (One Way, Two Parks) ระหว่างรัฐบาลมณฑลหูหนานและลาว
ก่อนหน้านี้ หูหนานและกระทรวงการเกษตรและป่าไม้ลาว ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเปิดทางสำหรับการใช้ทางรถไฟจีน-ลาวเป็นช่องทางการเสริมสร้างความร่วมมือการเกษตรระหว่างประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างหูหนานและลาว ผ่านการสร้างทางเชื่อมนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ในเวียงจันทน์ และนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในหูหนาน
หน่วยงานสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อรับรองปริมาณการค้าผลิตผลทางการเกษตรของลาวและหูหนานเฉลี่ยที่กว่า 1 ล้านตันต่อปี ในช่วงระยะเวลาของข้อตกลง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อการค้าสินค้าเกษตรคุณภาพสูง การเสริมสร้างความทันสมัยของอุตสาหกรรมการเกษตร และการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนและลาว
นับตั้งแต่การลงนามในบันทึกความเข้าใจข้างต้น รัฐบาลหูหนานได้ส่งเสริมบริษัท หูหนาน เซวี่ยนเย่ อีโคโลจิคัล อกริคัลเจอร์ เดเวลอปเมนต์ จำกัด(Hunan Xuanye Ecological Agriculture Development Co.) บริษัท หูหนาน อกริคัลเจอร์รัล เดเวลอปเมนต์ อินเวสเมนต์ กรุ๊ป จำกัด(Hunan Agricultural Development Investment Group Co.) บริษัท หงซิง อินดัสตรี กรุ๊ป จำกัด(Hongxing Industry Group Co.) และบริษัทเกษตรชั้นนำอื่นๆ ภายในมณฑลและต่างประเทศ ให้มีส่วนร่วมผลักดันการนำเข้าสินค้าเกษตรลาว และการจัดจำหน่ายในจีนภายใต้กรอบความร่วมมือนี้
ในกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว บริษัท เซวี่ยนเย่(ลาว)จำกัด (Xuanye (Laos) Co.) ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท หูหนาน เซวี่ยนเย่ฯ รับหน้าที่หลักด้านการผลิต จัดซื้อผลิตภัณฑ์การเกษตรลาวที่เกี่ยวข้อง และส่งออกไปยังจีน
สวีกั๋วอู่ ประธานบริษัท ซ่วนเย่(ลาว)จำกัด ระบุว่า ทางรถไฟจีน-ลาว กำลังรองรับการส่งออกกล้วยคุณภาพสูงและสินค้าเกษตรลาวอื่นๆ ไปยังหูหนานมากขึ้น โดยมีรถไฟให้บริการมากกว่าสองขบวนต่อสัปดาห์พร้อมเสริมว่าการขนส่งกล้วยไม่เพียงสะท้อนคุณค่ายิ่งใหญ่ของการเชื่อมต่อทางรถไฟจีน-ลาว และโอกาสทางประวัติศาสตร์ที่เกิดจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แต่ยังส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาร่วมกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และความร่วมมือแบบนำมาซึ่งประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
กล้วยอยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกชั้นนำของลาว โดยมูลค่าการส่งออกกล้วยของลาวรวมอยู่ที่ 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.9 พันล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 เป็นรองเพียงมันสำปะหลัง ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหัฐ(ราว 8.78 พันล้านบาท)
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)