นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 ประชาชนได้รับผลกระทบในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจสภาพแวดล้อม และด้านความมั่งคงทางอาหาร และปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนเกิดการเปลี่ยนแปลงมีการอาศัยในเขตเมืองมากกว่าชนบท รวมถึงมีการใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น เลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัยและมีการทำเกษตรกรรมด้วยตนเองภายในพื้นที่เขตเมือง เช่น คอนโดมิเนียม พื้นที่ว่างหลังบ้าน หรือพื้นที่ว่างรกร้างในเมือง เพื่อลดความเสี่ยงจากสารเคมีปนเปื้อนที่อาจมาจากผักและผลไม้ตามท้องตลาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของคนและสุขภาพของเมืองโดยการพัฒนาระบบนิเวศน์และและเกษตรกรรมในเมือง เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และรองรับปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านอาหารในเขตเมือง
ทั้งนี้ มกอช. โดยกองส่งเสริมมาตรฐาน (กสม.) ตระหนักถึงนโยบายและความสำคัญของเกษตรกรรมยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร และส่งเสริมคุณภาพชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวที่สมดุลและยั่งยืน จึงได้จัด “โครงการสัมมนาส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนวิถีในเมือง” ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เกษตรอินทรีย์วิถีในเมืองสู่ BCG Model” รวมทั้งมีวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ มาร่วมบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และบุคคลทั่วไป ที่สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ในเมือง
การสัมมนาครั้งนี้ เชื่อว่า จะได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคนิควิธีการทำเกษตรอินทรีย์และการดูแลรักษาสุขภาพด้วยสมุนไพร รวมถึงกรณีศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ในเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง และแนะนำต่อให้กับผู้อื่นที่สนใจนำไปผลิต บริโภค หรือจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนได้อีกทางหนึ่งด้วย เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำเกษตรในเมืองแบ่งเป็น 3 ประเภท 1. การทำเกษตรในเมืองระดับจุลภาคโดยเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาอาคารสงเคราะห์และสลัมและในพื้นที่เปิดโล่งที่ยังไม่มีใครใช้ประโยชน์ เช่น การปลูกพืชในละแวกบ้าน การทำสวนในบ้าน โรงเรียนและชุมชน และการเลี้ยงสัตว์ตามทางรถไฟหรือใต้สายไฟฟ้า การทำเกษตรในระดับนี้สามารถทำให้เกิดการเข้าถึงอาหารและความมั่นคงด้านอาหารสำหรับผู้ยากไร้ในเขตสลัม
2..การทำเกษตรหลายบทบาทขนาดเล็กและวนเกษตรในทางเชื่อมเขียว (green corridors) ของเขตพื้นที่เมืองและรอบ ๆ เขตพื้นที่เมือง (ใช้ดินเป็นหลัก) ซึ่งรวมถึงพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมและแผ่นดินไหว พื้นที่ลาดชัน และพื้นที่ในระบบนิเวศที่มีความพิเศษหรือคุณค่าเชิงทิวทัศน์ การทำเกษตรในระดับนี้เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร การนำขยะในเมืองที่ผ่านการหมักกลับมาใช้ใหม่ การกักเก็บน้ำฝน นันทนาการและความหลากหลายทางชีววิทยา
3.กลุ่มการเกษตรแบบเข้มข้นและการเกษตรเทคโนโลยีขั้นสูง (ไม่ได้ใช้ดินเป็นหลัก) รวมถึงการทำฟาร์มสุกร ฟาร์มสัตว์ปีกและฟาร์มปลาแบบเข้มข้นขนาดใหญ่ และการทำพืชกรรมสวนแบบเข้มข้นในเรือนกระจกที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร การทำเกษตรในระดับนี้มักจะประสานประโยชน์ของส่วนประกอบของกลุ่มโดยการนำผลิตภัณฑ์พลอยได้กลับมาใช้ใหม่